ยูเอ็นเตือน การพลัดถิ่นในเวสต์แบงก์แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 60 ปี
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ว่า ยูเอ็นระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลที่เริ่มต้นทางตอนเหนือของดินแดนที่ถูกยึดครอง เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องพลัดถิ่น และก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของ “การกวาดล้างชาติพันธุ์”
“ปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งในพื้นที่ และเป็นสาเหตุของการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ นับตั้งแต่ปี 2510” นางจูเลียต ทูมา โฆษกหญิงของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ สำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ) กล่าวกับผู้สื่อข่าวในเมืองเจนีวา ผ่านคลิปวิดีโอจากจอร์แดน
ขณะเดียวกัน สำนักงานสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เตือนว่า การบังคับให้พลัดถิ่นครั้งใหญ่โดยกองกำลังยึดครอง อาจเทียบเท่ากับ “การกวาดล้างชาติพันธุ์” ซึ่งนับตั้งแต่กองทัพอิสราเอลเริ่มปฏิบัติการในพื้นที่ตอนเหนือของเขตเวสต์แบงก์เมื่อช่วงต้นปี ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 30,000 คน ยังคงพลัดถิ่นโดยบังคับ
ด้านนายทามีน อัล-คีตัน โฆษกสำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็น กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากต้องอพยพออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตเวสต์แบงก์ เพราะการกระทำของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอล และการพลัดถิ่นพลเรือนในพื้นที่ยึดครองอย่างถาวร ถือเป็นการเคลื่อนย้ายที่ผิดกฎหมาย.
เครดิตภาพ : AFP