“ผยง” แนะเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 0.09 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 15 ก.ค. – สมาคมธนาคารไทย มองภาษีสหรัฐ 36% สร้างแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจไทย ชี้ไทยหมดบุญเก่า แนะเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ “กระตุก-ประคอง-ปฏิรูป”
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า วันนี้ศักยภาพของเรากำลังจะถูกท้าทายด้วยมาตรการภาษีตอบโต้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอัตราเท่าใด ก็คือความไม่แน่นอน ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น ไทยจะต้องใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ฝ่าความท้าทาย Disruption of the century ปฏิรูปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าด้วย 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.กระตุก โดยเฉพาะ SMEs 2.ประคองกลุ่มที่พอจะช่วยตัวเองได้แต่ได้รับผลกระทบเฉียบพลันจากภาษีทรัมป์ 3.ปฎิรูป ที่ต้องแยกกลุ่มให้ชัดเจนอย่าเหมาเข่ง
ที่ผ่านมาเราเจอหลุมกับดักทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ และยังโดนกดด้วยโควิด อีกทั้งยังฟื้นตัวช้า และตอนนี้ก็กำลังโดนกดด้วยภาษีทรัมป์ ทุกครั้งที่โดนกดเราสูญเสียทรัพยากรสาธารณะจำนวนมาก และหากไม่ได้ใช้อย่างคุ้มค่าก็จะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ในส่วนของมาตรการกระตุก ธนาคารพาณิชย์รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามผลักดันคุณสู้เราช่วยทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ซึ่งหวังว่าลูกหนี้เหล่านี้จะเร่งเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อลดและปลดหนี้
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังต้องมีการลงทุนอีกมาก ซึ่งหากดูสัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 65% จากเพดาน 70% อาจจะต้องมีการปรับเพดานขึ้น แต่จะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นไปทำอะไร เป็นสิ่งที่ต้องมาช่วยกันทบทวน ในวิกฤติมีโอกาส ตอนนี้ในช่วงที่ประเทศไทยเจอหลายปัญหาถาโถมแต่ก็เป็นโอกาสที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
ส่วนการที่จะยกระดับรายได้ และเพิ่มโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจ อันดับแรกจะต้องเร่งเสริมสร้างทักษะ ดึงคนเข้าสู่ระบบการศึกษาที่สามารถนำไปสู่การจ้างงาน สามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นโยบายสนับสนุนการลงทุนต้องปกป้องผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ถูกจุด ,การเร่งให้ตัวช่วยกับผู้ประกอบการในประเทศใช้ทรัพยากรในประเทศใช้การจ้างงานในประเทศ การผลักดันการมีส่วนร่วมของภาครัฐ-เอกชนหรือในการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ด้านเทคโนโลยีและข้อมูลที่จำเป็น. -517-สำนักข่าวไทย