อนามัยโลกจับตา ‘โรคชิคุนกุนยา’ เตือนทั่วโลกเร่งคุมการระบาดครั้งใหม่
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า “โรคชิคุนกุนยา” หรือ “ไข้ปวดข้อยุงลาย” เป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะ ส่งผลให้มีอาการไข้และปวดข้ออย่างรุนแรง โดยในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิต
พญ.ไดอานา โรฮาส อัลวาเรซ จากดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 รูปแบบการระบาดของโรคชิคุนกุนยาคล้ายกับที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2547-2548 ซึ่งเกิดขึ้นทั่วมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงในหมู่เกาะขนาดเล็ก ก่อนแพร่กระจายไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 500,000 คน
ขณะนี้ มีรายงานการระบาดครั้งใหญ่ในดินแดนเรอูนียงและมายอต ซึ่งเป็นแคว้นโพ้นทะเลของฝรั่งเศส และประเทศมอริเชียส ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย โดยมีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของประชากรในเรอูนียงติดเชื้อแล้ว
ตามข้อมูลของดับเบิลยูเอชโอ อาการของโรคชิคุนกุนยามีความคล้ายคลึงกับ “ไข้เลือดออก” และ “ไวรัสซิกา” จึงทำการวินิจฉัยได้ยาก
เช่นเดียวกับเมื่อ 20 ปีก่อน ไวรัสนี้กำลังแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น มาดากัสการ์ โซมาเลีย และเคนยา รวมถึงในเอเชียใต้
ในยุโรป เริ่มมีรายงานผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับการระบาดในมหาสมุทรอินเดีย โดยรวมถึงการติดเชื้อภายในประเทศ (local transmission) ในฝรั่งเศส และผู้ป่วยสงสัย (suspected case) ในอิตาลี
พญ.โรฮาส อัลวาเรซ เสริมว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคน้อยกว่า 1% แต่หากคำนึงถึงจำนวนผู้ป่วยหลายล้านคน สัดส่วนนี้อาจเท่ากับหลายพันชีวิต ส่วนในภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันน้อยหรือไม่มี การแพร่ระบาดใหญ่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจกระทบต่อประชากรถึง 3 ใน 4.
เครดิตภาพ : AFP