“ปลดปล่อยนาไทยจากควัน” จุลินทรีย์ย่อยฟาง จุดเปลี่ยนเล็กๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งผืน
ในยามฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้น หลายพื้นที่ของประเทศยังคงต้องจมอยู่ในกลุ่มควันและเถ้าถ่านจากการเผาที่แทบจะกลายเป็นกิจวัตร แม้จะรู้ว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความเร่งรีบ ต้นทุนสูง และตัวเลือกที่มีน้อย ทำให้ชาวนาไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก
แต่วันนี้ กรมการข้าวร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังสร้าง “ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน” ให้กับเกษตรกรไทย ด้วยนวัตกรรม “จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางข้าวและตอซัง” ที่ไม่เพียงช่วยเกษตรกรลดระยะเวลาในการเตรียมดิน แต่ยังช่วยโลกไม่ให้ต้องรับภาระจากควันพิษและภาวะโลกร้อนมากไปกว่านี้
“เราวิจัยจุลินทรีย์ไม่ใช่แค่เพื่อย่อยฟาง แต่เพื่อย่อยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราสร้างกันมานาน และสร้างระบบนาที่ยั่งยืนได้จริง” - ดร.เฟื่องลดา ธนะโชติ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว หัวหน้าโครงการฯ
ภายใต้โครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการตอซังและฟางข้าวด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่อปลอดการเผาและผลิตข้าวอย่างยั่งยืน” กรมการข้าวและคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนาต้นแบบหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าวที่สามารถย่อยสลายฟางข้าวและตอซังได้ภายในเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ ช่วยคืนธาตุอาหารสู่ดิน ลดระยะเวลาในการเตรียมดิน และลดปัญหามลพิษ ฝุ่น PM 2.5 จากการเผา
“นวัตกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องของนักวิจัยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีต้นทุนต่ำลง สุขภาพดีขึ้น และทำนาได้อย่างไม่ต้องทำร้ายสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป” - ศ.ดร.อลิสา วังใน ผู้ร่วมวิจัยฯ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านตัวเร่งชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ผืนนาที่เคยเต็มไปด้วยควันไฟ… แต่ในวันนี้ เราเริ่มเห็นทางเลือกใหม่ จุลินทรีย์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า กลับสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้จริง ฟางและตอซังข้าวที่เคยถูกจุดไฟเผา กลับกลายเป็นพลังในการฟื้นคืนชีวิตให้ดิน เกษตรกรที่เคยเดินตามความเคยชิน กำลังหันมาเดินด้วยความเข้าใจ และเมื่อลมหายใจของผืนนาสะอาดขึ้น โลกทั้งใบก็หายใจโล่งขึ้นด้วยเช่นกัน..