สปสช. ไฟเขียว สิทธิบัตรทอง “บริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ”
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวาระพิจารณา “ข้อเสนอบริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ” ซึ่งที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบให้เป็นสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)
รู้จัก “เทคฮอร์โมน” ฮอร์โมนเอสโตรเจน–เทสโทสเตอโรน ต่างกันอย่างไร?
จัดงบ 145.63 ล้านบาท เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ “ยาฮอร์โมน” ดูแลกลุ่มคนข้ามเพศ
การอนุมัติสิทธิประโยชน์นี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และทำให้ทุกคนในสังคมไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและมีศักดิ์ศรี โดยเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิที่พึงมี นอกจากนี้ยังเป็นไปตามมติบอร์ด สปสช. ครั้งที่ 7/2566 ที่เห็นชอบให้บริการสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง โดยใช้งบประมาณบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ปีงบประมาณ 2568 ดำเนินการ
การตัดสินใจของบอร์ด สปสช. ในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงบริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับของแพทยสภา พ.ศ. 2567 และลดความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมนอย่างผิดวิธี
“มติของบอร์ด สปสช. ในครั้งนี้ เป็นผลสำเร็จจากการผลักดันของหลายภาคส่วน และเป็นการตอบสนองต่อนโยบายระดับประเทศที่มุ่งเน้นการสร้างสังคมที่เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการครอบคลุมการดูแลสุขภาพที่จำเป็นให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากมติดังกล่าว ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้มีมติสำคัญ ดังนี้
- เห็นชอบ ให้บริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ เป็นสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยทุกคนทุกสิทธิที่เป็นบุคคลข้ามเพศหรือและผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จำเป็นต้องได้รับบริการ จำนวน 20,000 คน
- เห็นชอบ การเพิ่มรายการยาฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง 6 รายการ ในแผนการจัดหายาฯ ตามโครงการพิเศษ ภายใต้วงเงินงบประมาณปี 2568 ไม่เกิน 145.625 ล้านบาท ประกอบด้วย ยาฉีดลิวโพรเรลลิน (leuprorelin) หรือ ยาฉีดทริปโทเรลลิน (triptorelin), ยาเม็ดเอสตร้าดิออล (17 beta-estradiol), ยาทาเอสตร้าดิออล (0.06% estradiol transdermal), ยาฉีดเทสโทสเตอโรน (testosterone enanthate), ยาเม็ดไซโปรเทอโรนแอสิเตรต (cyproterone acetate) และยาเม็ดสไปโรโนแลคโตน (spironolactone)
- มอบให้ สปสช. ดำเนินการให้ "องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ" สามารถขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามมาตรา 3 เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสำหรับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งเตรียมระบบรองรับและจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
- มอบ สปสช. ส่งรายการยาที่ใช้เพื่อบริการกลุ่มประชากรข้ามเพศ ที่อยู่ในแนวเวชปฏิบัติ (CPG) ของสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลาย (Thai-PATH) แต่ยังไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (anti-androgens), Estradiol hemihydrate tablet, ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone undecanoate ชนิดฉีด) ให้คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อพิจารณานำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป
เลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการรับบริการ จะครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาและประเมินสุขภาพ การตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน การสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ ไปจนถึงการนัดหมายติดตามผล ซึ่งสามารถให้บริการผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้รับบริการจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย