อุตสาหกรรม ‘ไม้กฤษณา’ ในไหหลำ จากไม้โบราณสู่สินค้าร้อยล้านหยวน
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ไห่โข่ว, 1 ก.ค. (ซินหัว) — อำเภอเฉิงม่าย มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน มีชื่อเสียงในฐานะ “แหล่งกำเนิดไม้กฤษณาของจีน” โดยโซนเวิร์กช็อปแปรรูปของบริษัทท้องถิ่นแห่งหนึ่งนั้นมีไม้กฤษณาสารพัดขนาดจัดเรียงอย่างประณีต ซึ่งชิ้นส่วนไม้เกือบทั้งหมดถูกนำมาแกะสลักเป็นเครื่องประดับ เศษไม้ถูกนำไปทำเป็นธูปหอม ผงไม้กฤษณาแปรรูปกลายเป็นน้ำมันหอมระเหย และแม้แต่กากไม้ยังถูกนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง
เจ้าหน้าที่จากบริษัท ไห่หนาน ฉางซู่ ซีดลิงส์ เดเวลอปเมนต์ จำกัด กล่าวว่าวัสดุจากไม้กฤษณาล้วนมีมูลค่า บริษัทฯ พัฒนารูปแบบธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกต้นกล้า การเพาะปลูก การแปรรูป และการขาย ซึ่งสามารถผลิตต้นกล้าไม้กฤษณา 5 แสนต้นต่อปี สร้างงานโดยตรง 60 อัตรา
ในอดีตนั้น ไม้กฤษณาป่าต้องใช้เวลาหลายสิบหรือหลายร้อยปีจึงจะโตเต็มที่ แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ขยายตัวได้ด้วยการเพาะพันธุ์แบบเทียม โดยพื้นที่ปลูกไม้กฤษณาของเฉิงม่ายขยายเป็น 30,000 หมู่ (ราว 12,500 ไร่) มีฐานการแปรรูป 42 แห่ง สร้างมูลค่าผลผลิตกว่า 100 ล้านหยวน (ราว 453 ล้านบาท) ต่อปี และมีแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 5,000 หมู่ (ราว 2,000 ไร่) ในปีนี้
จางไท่จี ผู้อำนวยการสำนักป่าไม้ของอำเภอเฉิงม่าย ระบุว่าต้นกฤษณาแต่ละต้นมีรหัสอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะตัวที่บันทึกกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บกลิ่นหอม และในอนาคต เราจะบูรณาการเทคโนโลยีบล็อคเชนเพื่อติดตามกระบวนการการเพาะปลูกจนถึงการขาย
ปัจจุบันต้นไม้โบราณชนิดนี้ฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยต้นกฤษณากว่า 10 สายพันธุ์กำลังเจริญเติบโตในดินภูเขาไฟที่ฐานการเพาะปลูกขนาด 700 หมู่ (ราว 291 ไร่) ของบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ตอนเหนือของเฉิงม่าย
นอกจากนี้ ทางอำเภอยังส่งเสริมการบูรณาการอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้ากับสุขภาพ การฟื้นฟูชนบท และภาคส่วนอื่นๆ อีกทั้งใช้ประโยชน์จากนโยบายท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานในการสำรวจรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น ส่วนลดภาษีส่งออก และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยมีจุดมุ่งหมายทำให้ไม้กฤษณากลายเป็น “ต้นไม้สมบัติล้ำค่า” อย่างแท้จริง