เจาะภาษากาย สีกากอล์ฟ หลังคุยกับ หนุ่ม กรรชัย ชัดเลยรู้สึกยังไง
จากกรณีร้อนแรงของ“สีกากอล์ฟ” ล่าสุดในรายการ โหนกระแส EP.5 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 พิธีกร หนุ่ม กรรชัย ได้เปิดบทสัมภาษณ์สีกากอล์ฟแบบเจาะลึก ก่อนที่เธอจะถูกควบคุมตัว โดยบทสัมภาษณ์เผยเบื้องหลังความสัมพันธ์กับพระชั้นผู้ใหญ่ และพฤติกรรมที่สร้างแรงสะเทือนในสังคม
สีกากอล์ฟเล่าว่า ตนเป็นคนจังหวัดพิจิตร เคยแต่งงานกับทหารเรือในปี 2551 แต่เลิกรากันภายในหนึ่งปี ต่อมาได้มีลูกกับดีเจคนหนึ่งที่ไม่ยอมรับรองบุตร เนื่องจากเขามีครอบครัวอยู่แล้ว จึงให้พระสุรพลที่รู้จักช่วยลงชื่อรับรองให้
เธอเปิดเผยว่าเริ่มมีความสัมพันธ์กับพระสงฆ์รูปแรกในปี 2556 หรือ 2557 ซึ่งเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรจากวัดท่าหลวง โดยเล่าว่า พระท่านทักไลน์มาผิดชื่อ จากนั้นเริ่มคุยกันจนเกิดความผูกพันแบบชู้สาว และมีความสัมพันธ์ครั้งแรกที่กุฏิของท่านในช่วงค่ำ
“ท่านเป็นคนเริ่มก่อน เราเองก็เหมือนคนคุยกัน ชอบพอกันตามธรรมชาติ” - สีกากอล์ฟ
ทั้งนี้ คบกันจริง ๆ จัง ๆ ประมาณ 2 ปี สีกากอล์ฟก็ย้ายมาอยู่ กทม. โดยช่วงนั้นเริ่มมีข่าวเริ่มดังว่าเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรมีเด็กอยู่ที่สักเหล็ก ซื้อรถเบนซ์ให้ สร้างบ้านให้ ให้นู่นนี่นั่น รถของตนไม่มีใครใช้ในพิจิตร เป็นคันแรกคันเดียวเลย เราก็เลยมาอยู่ที่ กทม. ท่านก็อยากให้เรามา กทม. เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้ "มันเด่นน่ะพี่ รถมันก็เด่น คนมันก็เด่น"
เมื่อเริ่มมีข่าวลือในพื้นที่พิจิตร เธอจึงย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของพระ เพื่อหลีกเลี่ยงความสนใจจากชาวบ้าน โดยท่านยังติดต่อหาเรื่อย ๆ และเคยแวะไปเยี่ยมที่คอนโดในกรุงเทพฯ แม้ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวจะยุติลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม เธอเปิดเผยว่า ช่วงหลังจากเลิกรา พระรูปเดิมยังติดต่อมาขอให้ช่วยชี้แจงกรณีข่าวฉาวที่วัดบางคลาน รวมถึงยังมีการพูดจาเชิงเกี้ยวพาราสี ขอรูปภาพไม่เหมาะสม และแม้แต่ชวนไปโรงแรมในภาคเหนือ โดยอ้างว่าตัวเองอยู่คนเดียวในห้อง
“ท่านเป็นคนทะลึ่ง ชอบดูรูปโป๊ ชอบเซ็กส์โฟน ซึ่งตอนคบกันเราไม่รู้สึกอะไร” – สีกากอล์ฟกล่าวในรายการ
หนุ่ม กรรชัย ระบุว่า ตนรู้สึกตกใจกับคำตอบหลายส่วน แต่พยายามไม่จี้ถามมาก เพราะกลัวว่าผู้ให้สัมภาษณ์จะไม่ยอมพูดต่อ
ด้าน ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงพฤติกรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ว่า จากท่าทีและคำพูดของสีกากอล์ฟ แสดงถึงความรู้สึก “ภูมิใจ” มากกว่าการ “รู้สึกผิด” เช่นการยิ้มเมื่าพูดว่า “รถก็เด่น คนก็เด่น” หรือ “เป็นคันเดียวในพิจิตร”
“มันคือความภาคภูมิใจที่ล้นออกมาทางภาษากาย ไม่ใช่ความละอาย” – ดร.ตฤณห์
เขายังตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดหลายประโยคสะท้อนว่าเธอมองพฤติกรรมผิดเป็นเรื่องปกติ เช่น การบอกว่าพระเป็นคนทะลึ่ง “อยู่แล้ว” แสดงถึงการชินชาและไม่มีความสำนึกต่อความผิดที่กระทำ
เรื่องนี้จึงไม่เพียงสะเทือนวงการสงฆ์ แต่ยังเป็นบทสะท้อนสังคมในแง่พฤติกรรม ศีลธรรม และขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างฆราวาสกับพระสงฆ์ ที่ยังคงต้องถูกจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป