17 นักวิชาการอิสระ ยื่นหนังสือถึง ครม. ขอผู้ว่าฯ ธปท.เป็นอิสระ
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 22.28 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 22 ก.ค.- 17 นักวิชาการอิสระ ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี-ครม. ระบุผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ ต้องเป็นอิสระ ไม่ถูกกดดันให้ลดดอกเบี้ย
เพจเฟชบุ๊ก “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” โพสต์หนังสือเปิดผนึกถึงคณะรัฐมนตรี เรื่อง ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรียน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า กรณีการเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2568 ขอแสดงความห่วงใยและเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
1.เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้จะเข้าใจได้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว รัฐบาลต้องการการเจริญเติบโตของประเทศในระยะสั้น ซึ่งประสบการณ์การของผู้ทำงานธนาคารของรัฐ อาจจะเคยชินในการสนองตอบต่อนโยบายของนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศชาติต้องการการเติบโตที่มีเสถียรภาพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเป็นบุคคลที่สามารถประคับประคอง และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐบาล
2.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องไม่ถูกกดดันเพื่อลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามความต้องการของฝ่ายการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ เพราะจะทำให้นักการเมืองและคนบางกลุ่ม สามารถแสวงหาประโยชน์ในบางโอกาสจนร่ำรวย แต่ประเทศชาติเสียหาย
3.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเป็นอิสระจากการกดดันของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ แต่จะต้องกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อประโยชน์ของประเทศระยะยาว
4.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนและสถาบันของต่างประเทศเกิดความมั่นใจที่จะทำธุรกิจและพันธสัญญาในระยะยาว
5.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเข้าใจการพัฒนาประเทศในระดับมหภาค และการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อลดช่องว่างและความแตกต่างทางรายได้ของคนในสังคม มากกว่าความเข้าใจในระดับจุลภาคหรือโครงการ เพราะนั่นเป็นบทบาทเฉพาะของธนาคารของรัฐ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเฉพาะจุด
ด้วยเหตุผลที่กล่าวอ้างมา จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะว่า ในครั้งนี้ผู้ที่เคยผ่านงานมีประสบการณ์ของการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมาก่อน น่าจะเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากจะมีคุณสมบัติส่วนตนที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับกับนานาประเทศ เป็นที่ยอมรับกับผู้บริหารและบุคลากรภายในธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ยังเป็นสิ่งจูงใจให้คนในธนาคารแห่งประเทศไทยได้พัฒนาตนจนถึงระดับสูงสุดของหน่วยงาน สำหรับผู้พลาดโอกาสที่ฝ่ายการเมืองบางกลุ่มผลักดัน ยังมีโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ในส่วนที่มีความสามารถประสบการณ์อันจะทำประโยชน์ให้กับประเทศ ได้อย่างดียิ่งต่อไป
ท้ายหนังสือเปิดผนึก ลงชื่อ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ จำนวน 17 รายชื่อ อาทิ รศ.ดร. อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ,รศ.ดร. ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มก. ,ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , รศ.ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , รศ. ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., รศ.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , ผศ.จินตนา เชิญศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , รศ. ดร. ดาว มงคลสมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , รศ.พรพิมล สันติมณีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , รศ.ดร.ลิลี โกศัยยานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ,รศ.ดร.เพลินพิศ สัตย์สงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , ผศ.จรินทร์ พิพัฒนกุล คณะเศรษศาสตร์ มธ. , รศ.ชูศรี มณีพฤกษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , รศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , อาจารย์ สุพรรณ นพสุวรรณชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. , รศ.มณีรัตน์ ภิญโญภูษาฤกษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.-516.-สำนักข่าวไทย