ป.ป.ช.เตรียมสอบกรรมการ กสทช.–ผู้ช่วยเลขานุการ เอี่ยวเอกสารราชการปลอม
เปิดข้อมูลวงใน พบชื่อกรรมการ กสทช.–ผู้ช่วยเลขานุการ เอี่ยวเอกสารราชการปลอม ส่งผลต่อการเสนอวาระสำคัญระดับองค์กร ตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง เผยผลตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์–ETDA ชี้ชัด “ไม่ได้เขียนเอง-ไม่ใช่ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์” ด้าน ป.ป.ช. รับเรื่องแล้ว ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา–พ.ร.ป. ป.ป.ช.
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้มีหนังสือถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อ ขอให้ดำเนินการสอบสวนกรรมการ กสทช. จำนวน 4 ราย และผู้ช่วยเลขานุการ 1 ราย กรณีมีพฤติการณ์เข้าข่าย ปลอม และใช้เอกสารราชการปลอม คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระบุชัดว่า เอกสารราชการหลายฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสนอมติ การเชิญประชุม และการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. มีลายมือชื่อของกรรมการบางราย ที่ไม่ได้ลงนามด้วยตนเอง และ ไม่เป็นลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้อง โดยคณะทำงานฯได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีกรรมการกสทช.จำนวน 4 ราย และผู้ช่วยเลขานุการ อาจกระทำความผิดตามกฎหมาย และได้เสนอแนะให้ส่งเรื่องให้ ปปช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งต่อมาเมื่อ 29 พ.ย. 67 สนง.กสทช. ส่งเรื่องให้ ปปช. ดำเนินการ ตาม ป.อาญา ฐาน ปลอม และใช้เอกสารราชการปลอม ตาม ป.อาญา ม. 264 ประกอบ ม. 265, ม.268, ม. 161 และ ม. 157 และความผิดตาม พรป.ปปช. ม. 172
สำหรับผลการตรวจสอบลายมือชื่อนั้นปรากฎว่ามีรายงานผลพิสูจน์จาก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า พบการกระจายตัวของผงหมึกทั่วบริเวณลายเส้น จึงเป็นลายมือชื่อที่ไม่ได้เกิดจากการเขียนด้วยหมึกปากกา นอกจากนี้ยังมีการสอบพยานบุคคลภายใน กสทช. และมีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ ETDA เกี่ยวกับการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
รายงานระบุว่า ETDA (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ยังยืนยันว่า ลายเซ็นดังกล่าว ไม่เข้าเกณฑ์ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย เนื่องจาก 1.ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลผู้ลงชื่อ 2.ไม่แสดงเจตนาเจ้าของลายเซ็น 3.ไม่ใช่ช่องทางที่น่าเชื่อถือหรือระบบที่รับรอง ที่สำคัญ ไม่ปรากฏว่าบุคคลที่ถูกอ้างชื่อในเอกสารได้เข้าใช้ระบบ e-Document ของ กสทช. เพื่อดำเนินการเลยแม้แต่ครั้งเดียว
จากการวิเคราะห์ทางกฎหมาย คดีนี้อาจเข้าข่ายความผิดหลายมาตรา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 (ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม) มาตรา 161, 157 (เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ) พ.ร.ป. ป.ป.ช. มาตรา 172 (จริยธรรมร้ายแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ) ทั้งนี้ที่ผ่านมา ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ชัดเจนว่า แม้เจ้าของลายเซ็นจะอนุญาตให้ผู้อื่นลงชื่อแทน แต่ “กฎหมายไม่ให้เซ็นแทนกันได้” จึงถือว่าเป็น การปลอมเอกสารโดยสมบูรณ์
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO