"ThaID" คือแอปฯ อะไร ทำอะไรได้บ้าง พร้อมขั้นตอนลงทะเบียนแบบง่ายๆ
แอปพลิเคชัน ThaID (อ่านว่า ไทยดี) ช่องทางในการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และสามารถใช้แทนเอกสารสำคัญต่างๆ ทางราชการได้ โดยล่าสุดโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งได้ประกาศเปลี่ยนช่องทางให้ประชาชนย้ายไปลงทะเบียนที่แอปฯ ทางรัฐแทน ซึ่งระบบจะเชื่อมโยงการยืนยันตัวตนผ่านแอปฯThaID
ไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับThaID ให้มากขึ้น คือแอปฯ อะไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง รวมทั้งวิธีลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนที่สามารถทำด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ได้เลย
ทำความรู้จัก ThaID คืออะไร?
ThaID คือ แอปพลิเคชันที่ใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านดิจิทัล (Digital ID) เป็นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มีระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification System) ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยไม่ต้องเสียเวลาในการกรอกเอกสารและข้อมูลให้เสียเวลา ช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยในการยืนยันตัวตนมากยิ่งขึ้น
โหลดแอป ThaiD ได้ทางไหน?
ประชาชนสามารถใช้บริการแอปฯ ThaID เพื่อลงทะเบียนและยืนยันตัวตนได้ง่ายๆ 2 วิธี ดังนี้
1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaID ได้ทั้งสมาร์ทโฟนระบบ iOS และ Android เมื่อดาวน์โหลดมาแล้ว ก็สามารถดำเนินการลงทะเบียนใช้งานและยืนยันตัวด้วยตัวเองได้เลย
2. ลงทะเบียน ThaID ผ่านเจ้าหน้าที่ โดยให้นำบัตรประชาชนไปติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขต, ที่ว่าการอำเภอ, สำนักทะเบียนทุกแห่ง เพื่อแจ้งของลงทะเบียนและยืนยันตัวตน
สรุปแอปพลิเคชัน ThaID ใช้ทำอะไรได้บ้าง?
1. ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน
ปัจจุบันนี้ประชาชนสามารถเปิดแอปฯ ThaID เพื่อแสดงบัตรประชาชนดิจิทัลแทนบัตรประชาชนตัวจริงได้ เมื่อต้องการใช้บริการของภาครัฐหรือเอกชน ในกรณีที่ลืมนำบัตรประชาชนตัวจริงมา ก็สามารถเปิดแอปฯ ThaID เพื่อแสดง "บัตรประชาชนดิจิทัล" ได้ เช่น ใช้ลงทะเบียนเพื่อรับบริการต่างๆ, ใช้เช็กอินเพื่อเดินทางโดยสารเครื่องบินในประเทศ เป็นต้น
2. ใช้แสดงข้อมูลทะเบียนบ้าน และย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์
ระบบของแอปฯ ThaID จะมีแถบเมนู "เอกสาร" ให้สามารถเลือกทำธุรกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้เอกสารที่ออกให้โดยหน่วยงานราชการ ซึ่งสามารถเปิดเพื่อดูสำเนาทะเบียนบ้านออนไลน์ และทำการย้ายทะเบียนบ้านแบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องไปติดต่อที่สำนักทะเบียนหรือที่ว่าการอำเภออีกต่อไป เพียงแต่เจ้าของบ้านปลายทางกดยินยอม ก็ย้ายทะเบียนบ้านได้แบบง่ายๆ เลย
3. ใช้แสดงข้อมูลใบสูติบัตร, ทะเบียนสมรส และใบทะเบียนหย่า
ประชาชนสามารถเปิดค้นหาเอกสารสำคัญของตัวเองที่ถูกรวบรวมไว้ในแอปพลิเคชัน ThaID ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นใบสูติบัตร, ใบทะเบียนสมรส, ใบสำคัญการหย่า โดยไม่จำเป็นต้องพกเอกสารที่เป็นกระดาษให้ยุ่งยาก หรือหากเอกสารตัวจริงหาย ก็สามารถแสดงข้อมูลบนแอปฯ นี้ได้นั่นเอง
4. ใช้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านระบบต่างๆ
นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เปิดให้ประชาชนต้องทำธุรกรรมผ่าน ThaID เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการพิสูจน์ยืนยันตัวตน ยกตัวอย่างเช่น
- งานทะเบียนออนไลน์
- ยื่นภาษีออนไลน์
- ระบบ Health link
- ระบบยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมออนไลน์
- แอปพลิเคชัน เงินเด็ก
- ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
- ระบบแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์
- ระบบ DIP e-services
- ระบบ SEIS
- ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต
- ระบบ LandsMaps
- สมุดสุขภาพ
- ระบบ Admission มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ระบบงานคดีปกครอง
- ระบบสารสนเทศในการให้บริการประชาชน (Local Service)
- แอปพลิเคชัน ทางรัฐ
- ระบบกลางการให้บริการภาครัฐผ่านระบบ Online
- แอปพลิเคชัน My GPF
- ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค
สรุปขั้นตอนลงทะเบียน ThaID ที่ถูกต้อง เพื่อยืนยันตัวตนแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง
1. เปิดแอปพลิเคชัน ThaID แล้วเลือกหัวข้อ "ลงทะเบียนด้วยตนเอง"
2. อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการก่อนทำการลงทะเบียน ThaID แล้วกด "ยินยอม"
3. ถ่ายรูปด้านหน้าบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (ห้ามถ่ายจากใบสำเนา หรือรูปถ่าย) ตรวจสอบความชัดเจนแล้วกดปุ่ม "ยืนยัน"
4. ถ่ายรูปด้านหลังบัตรประจำตัวประชาชน ตรวจสอบความชัดเจนแล้วกดปุ่ม "ยืนยัน"
5. ตรวจสอบข้อมูลที่ระบบดึงอัตโนมัติจากบัตรประจำตัวประชาชน หากถูกต้องให้กด "ยืนยัน"
6. ถ่ายรูปใบหน้าตนเองเพื่อยืนยันตัวตน โดยให้ใบหน้าอยู่ในกรอบวงกลมที่ระบบกำหนดไว้
7. เมื่อถ่ายรูปสแกนใบหน้าผ่านแล้ว ให้ตั้งค่ารหัสผ่าน (PIN) จำนวน 8 หลัก แล้วกรอกยืนยันรหัสผ่านให้ถูกต้อง (รหัสผ่านต้องไม่ใช่ตัวเลขที่เรียงกัน เช่น 1234 หรือเป็นตัวเลขซ้ำ เช่น 1111 เพื่อป้องกันความปลอดภัย)
8. ระบบแอปฯ ThaID จะแจ้งเตือนขอความยินยอม โดยต้องกรอกรหัสผ่าน (PIN) จำนวน 8 หลักอีกครั้ง หลังจากนั้นก็สามารถเข้าสู่การใช้งานได้เลย
หากลืมรหัสผ่าน ThaID ต้องทำอย่างไร?
เปิดแอปพลิเคชัน ThaID ระบบจะให้กรอกรหัสผ่าน (PIN) จำนวน 8 หลัก แต่หากลืมรหัสผ่าน ให้กด "ลืมรหัสผ่าน" หลังจากนั้นระบบจะให้รีเซ็ตรหัสผ่านใหม่ผ่าน 2 ขั้นตอน เพื่อ "เริ่มขั้นตอนการรีเซ็ตรหัสผ่าน" ได้แก่
1. ถ่ายภาพใบหน้า
2. ระบุ PIN ใหม่
ThaID สแกนหน้าไม่ผ่าน แก้ยังไง?
ระหว่างที่กำลังลงทะเบียนแอปฯ ThaID แต่เจอปัญหา "สแกนหน้าไม่ผ่าน" แนะนำให้สแกนใบหน้าในสถานที่มีแสงเหมาะสม ไม่สว่างจ้าและไม่มืดจนเกินไป รวมถึงต้องถอดแว่นตา ถอดหมวก และใช้สมาร์ทโฟนสแกนใบหน้า โดยให้ใบหน้าอยู่ในตำแหน่งวงกลมที่ระบบกำหนดไว้
แต่หากยังไม่สามารถสแกนใบหน้าผ่าน ThaID ได้ก็สามารถไปลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ โดยนำบัตรประชาชนใบล่าสุด ไปติดต่อที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักทะเบียนทุกแห่งใกล้บ้านได้เลย
แอปพลิเคชัน ThaID ปลอดภัยไหม?
ThaID มีความปลอดภัยเนื่องจากเป็นแอปฯ ของหน่วยงานรัฐ (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) และสามารถใช้ทำธุรกรรมต่างๆ เพื่อยืนยันตัวตนในทางราชการได้ โดยมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างระบบ Face Verification System และ Digital ID มาใช้ในการพิสูจน์เปรียบเทียบใบหน้าและยืนยันตัวตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ข้อควรระวังที่ควรคำนึงถึงความปลอดภัย เมื่อใช้งาน ThaID ก็คือ ไม่ควรเผยแพร่รหัสผ่าน (PIN 8 หลัก) ให้แก่บุคคลอื่น เพราะอาจมีผู้ที่ไม่หวังดีใช้รหัสผ่านดังกล่าวในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว รวมถึงเอกสารทางราชการส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน ThaID ได้นั่นเอง
ที่มาข้อมูล : สำนักบริหารการทะเบียน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- Digital ID คืออะไร เปิดวิธีลงทะเบียนง่ายๆ ตัวช่วยแทนใช้บัตรจริง
- เปิดขั้นตอนย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์ 2568 สะดวก ง่าย ทำได้ที่บ้าน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : "ThaID" คือแอปฯ อะไร ทำอะไรได้บ้าง พร้อมขั้นตอนลงทะเบียนแบบง่ายๆ
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- "ThaID" คือแอปฯ อะไร ทำอะไรได้บ้าง พร้อมขั้นตอนลงทะเบียนแบบง่ายๆ
- เปิดขั้นตอนย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์ 2568 สะดวก ง่าย ทำได้ที่บ้าน
- เตรียมย้ายไปยืนยันตัวตนเที่ยวไทยคนละครึ่ง ที่แอปทางรัฐ ชี้ยังเหลือสิทธิ์เที่ยว 4 แสนสิทธิ
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath