50 ปี ต่อไปของความสัมพันธ์ไทย-จีน ในโลกใหม่
วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวาระฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนครบรอบ 50 ปี ในขณะที่เราทบทวนความสัมพันธ์ “ไทยจีนใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” ในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา เรายังต้องมองไปข้างหน้าเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ของความสัมพันธ์ 50 ปี ต่อไประหว่างไทยจีน ท่ามกลางบริบทโลกรอบตัวซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากมาย
50 ปี ที่ผ่านมานั้น เป็นยุคสมัยของการสิ้นสุดของสงครามเย็น ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และยุคการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วภายในของจีน บริบทเหล่านี้ ณ ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
จากยุคสิ้นสุดของสงครามเย็น ปัจจุบันมาสู่ยุคการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากยุคความรุ่งโรจน์ของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนมาสู่ยุคสงครามการค้า และจากยุคทองทางเศรษฐกิจของจีนมาสู่ยุคที่เศรษฐกิจภายในของจีนเองเริ่มประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ในขณะเดียวกันพื้นฐานของทุนและสินค้าจีนก็มีความแข็งแกร่งขึ้นมาก เราเริ่มเห็นคลื่นมหึมาของการไหลออกของทุนและสินค้าจีนมาแสวงโอกาสยังไทยและภูมิภาคอาเซียน
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายขึ้นสำหรับประเทศไทย ไทยจะจัดความสัมพันธ์กับจีนอย่างไรในยุคที่สหรัฐฯ และจีนต่างช่วงชิงความเป็นเจ้าอิทธิพลในภูมิภาค ไทยจำเป็นต้องเลือกข้างหรือไม่ และไทยสามารถมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนโดยหลีกเลี่ยงการถูกกดดันจากสหรัฐฯ ได้หรือไม่
ไทยจะหาโอกาสใหม่อย่างไรจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างมหาอำนาจที่ทำให้ซัปพลายเชนอุตสาหกรรมโลกปั่นป่วน ประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออก และที่สำคัญพึ่งพาการส่งออกไปทั้งสหรัฐฯ และจีน จะรับมืออย่างไรในบริบทที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนเองต่างก็หันมาเน้นพึ่งพาสินค้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น
สหรัฐฯ หันกลับมาพึ่งตัวเองเพื่อรื้อฟื้นฐานการผลิตอุตสาหกรรมในประเทศ ส่วนในมุมจีนที่หันกลับมาพึ่งตัวเอง ก็เพื่อซึมซับกำลังการผลิตส่วนเกินที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และยุโรปได้อย่างเสรีอีกต่อไป จีนจึงต้องเน้นบริโภคภายในประเทศและยังส่งออกสินค้าเหล่านั้นมายังตลาดประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย
ไทยจะรับมือกับการลดลงอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวจีนจากหลายปัจจัยได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน คลื่นการลงทุนของทุนจีนและคลื่นการทะลักของสินค้าจีนก็เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ต่อไทย เสมือนกับเหรียญสองด้าน การออกมาที่เพิ่มขึ้นของทุนจีน มีทั้งการมาของทุนจีนสีขาวที่มีเทคโนโลยีก้าวล้ำ ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทุนจีนสีเทา ทุนจีนกินรวบ หรือทุนจีนที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ผมอาจมีแต่คำถามมากกว่าที่จะมีคำตอบ แต่อยากย้ำให้ตระหนักว่า คำถามหรือโจทย์ของความสัมพันธ์ไทยจีน 50 ปี ต่อจากนี้ไป ต้องเปลี่ยนจากคำถามเดิมเพื่อให้ทันกับบริบทโลกใหม่ที่แตกต่างจาก 50 ปี ก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน จากคำถามที่ตั้งขึ้นข้างต้น จะเห็นว่า พร้อมไปกับความท้าทายใหม่ที่ไทยต้องรับมือ ก็มีโอกาสใหม่ด้านการค้า การลงทุน การยกระดับเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างไทยและจีน เสมือนเหรียญสองด้านของความสัมพันธ์ที่เราต้องบริหารจัดการ รับมือความเสี่ยงความท้าทาย พร้อมกับมองเห็นและคว้าโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้น
ความสำเร็จของความสัมพันธ์ไทยจีน 50 ปี ต่อจากนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกลไกการสื่อสารปัญหาระหว่างกันอย่างจริงใจและเป็นมิตร ด้วยข้อมูลที่ชัดเจนและไม่อคติ ต้องไม่ใช่เป็นการกล่าวอ้างตามกระแสข่าวหรือความเชื่อของตะวันตกโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน การสื่อสารต้องอยู่บนพื้นฐานความคิดว่าพี่น้องกันต้องจริงใจต่อกันและสื่อสารความกังวลต่อกันได้อย่างตรงไปตรงมา
ความกังวลต่างๆ ของไทยนั้น หลายเรื่องทางจีนเองย่อมจะให้ความสำคัญอยู่แล้วตามนโยบายธงนำของจีนไม่ว่าจะเป็นหลัก Global Development Initiative, Green Belt and Road, Common Prosperity ซึ่งเน้นแนวทางการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนฐานราก และการพัฒนาที่ช่วยยกระดับเทคโนโลยีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การสื่อสารความกังวลระหว่างกันต้องมีกลไกระดับสูงระหว่างผู้นำ ตัวอย่างเช่น กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายนั่งหัวโต๊ะ ควรจัดเป็นประจำต่อเนื่องและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งสองฝ่าย
อีกบริบทหนึ่งที่เป็นโอกาสใหม่ และแตกต่างจาก 50 ปี ที่ผ่านมา คือการก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีของจีน และในช่วง 50 ปี ต่อจากนี้ จะเป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทั้งในด้านพลังงานสะอาด ปัญญาประดิษฐ์ ไบโอเทค ดังนั้น ความร่วมมือและการทูตวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระหว่างไทยจีนจะกลายมาเป็นมิติที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ประเด็นสุดท้ายสำหรับโลกใหม่ก็คือ จีนกับไทยต้องมองการทูตเชิงรุกที่ไปมากกว่าความสัมพันธ์ทวิภาคี แต่ต้องตั้งคำถามร่วมกันว่าในบริบทโลกใหม่ดังกล่าวมา จีนและไทยจะมีบทบาทเชิงรุกร่วมกันอย่างไร ในการขับเคลื่อนการทูตกลุ่มใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างเอเชียและยุโรป ความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียน ความร่วมมือระหว่างเอเชียด้วยกันเอง ความร่วมมือกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนความร่วมมือระหว่างกันในกลุ่มประเทศขั้วใต้ (Global South)
ทั้งหมดนี้เพื่อขยายโอกาสตลาดใหม่และหุ้นส่วนใหม่ท่ามกลางบริบทตลาดโลกที่หดดัวลงจากการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ของมหาอำนาจเดี่ยวแต่เดิมอย่างสหรัฐฯ