เปิดมุมวิเคราะห์ สื่อนอกมองไทย-กัมพูชา คุยหยุดยิง เงื่อนไขสู่สันติภาพหรือทางตัน?
เจรจาสันติภาพท่ามกลางเสียงปืน ไทย-กัมพูชาเปิดโต๊ะคุยวันนี้ หลัง ‘ทรัมป์’ กดดันหนัก แต่ชายแดนยังเดือด ผู้นำไทยและกัมพูชากำหนดเดินทางถึงประเทศมาเลเซีย เปิดโต๊ะการเจรจาที่มีสันติภาพเป็นเดิมพันในวันนี้ แม้เสียงปืนใหญ่จะยังคงดังกึกก้องตามแนวชายแดน
วันนี้ (28 ก.ค.)นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีของไทย จะนำคณะผู้แทนจากกรุงเทพฯ เข้าร่วมการเจรจาซึ่งมีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนเป็นคนกลาง โดยการเจรจามีกำหนดจะเริ่มขึ้นในเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับบ้านเราคือช่วงประมาณบ่าย 2 โมง
ขณะที่ทางการมาเลเซียยืนยันว่า ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็จะเข้าร่วมการประชุมครั้งสำคัญนี้ด้วย
การเผชิญหน้าทางการทูตครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาเคลื่อนไหวต็มตัว โดยเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า เขาได้สนทนากับผู้นำทั้งสองชาติ และได้เตือนว่าข้อตกลงทางการค้ากับวอชิงตันในอนาคตจะถูกระงับหากการสู้รบยังคงดำเนินต่อไป
“ผมได้คุยกับนายกรัฐมนตรีทั้งสองท่าน และผมคิดว่าพวกเขาก็ต้องการที่จะแก้ไขปัญหานี้แล้ว” ทรัมป์ กล่าว
เสียงปืนที่ยังไม่สงบ
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากสำนักข่าวอัลจาซีรา เผยว่า ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากคำกล่าวของโดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์บนพื้นดินกลับทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายเป็นผู้เปิดฉากยิงปืนใหญ่เข้าใส่พื้นที่พิพาทในช่วงเช้ามืดของวันอาทิตย์
ยอดผู้เสียชีวิตจากการปะทะที่ดำเนินมาเป็นวันที่สี่ มีมากกว่า 33 รายแล้ว ซึ่งรวมถึงพลเรือนในฝั่งไทย 13 ราย และในฝั่งกัมพูชา 8 ราย
กระทรวงกลาโหมกัมพูชา ระบุว่า ฝ่ายไทยได้ยิงปืนใหญ่และเปิดฉากโจมตีทางภาคพื้นดินหลายจุด รวมถึงบริเวณใกล้เคียงปราสาทโบราณ ขณะที่กองทัพไทยโต้กลับว่ากองกำลังกัมพูชาได้ยิงเข้าใส่หลายพื้นที่ซึ่งมีบ้านเรือนพลเรือนตั้งอยู่
“เรากำลังเข้าสู่สภาวะทางตันที่ไม่มีฝ่ายใดยอมถอย ทั้งสองรัฐบาลต่างกล่าวโทษอีกฝ่ายว่าเป็นผู้เริ่มก่อน และต่างก็บอกว่าต้องการหยุดยิง แต่คู่กรณีจะต้องทำตามเงื่อนไขของตนเสียก่อน” โทนี่ เฉิง ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรารายงานสดจากจังหวัดสุรินทร์
เงื่อนไขสู่สันติภาพ หรือทางตัน?
ท่าทีของ 2 ฝ่ายยังคงแตกต่างกันอย่างชัดเจน กัมพูชาระบุว่าสนับสนุนข้อเรียกร้องของทรัมป์ให้มีการหยุดยิงทันที ขณะที่ไทยแสดงท่าทีว่า แม้จะขอบคุณทรัมป์ แต่ไม่สามารถเริ่มการเจรจาได้ตราบใดที่กัมพูชายังคงโจมตีพลเรือน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่พนมเปญปฏิเสธ
“เราได้เสนอให้มีการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของเรา เพื่อหาข้อสรุปเรื่องเงื่อนไขการหยุดยิง การถอนกำลังทหารและอาวุธพิสัยไกล” นายภูมิธรรมกล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเดินทางไปมาเลเซีย
เสียงสะท้อนจากผู้พลัดถิ่น
ท่ามกลางเกมการเมืองและการทหาร ประชาชนทั้งสองฝั่งชายแดนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ภาพของผู้คนที่อพยพหนีตายไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวในจังหวัดศรีสะเกษ คือเครื่องยืนยันถึงโศกนาฏกรรมครั้งนี้
“มันคงจะดีมากถ้าไทยยอมหยุดยิง เพื่อที่ทั้งสองประเทศจะได้อยู่อย่างสันติ” นักศึกษามหาวิทยาลัยในพนมเปญ กล่าว ขณะที่ นายถาวร ทูสวรรณ ชาวบ้านในจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ถ้ามีการหยุดยิง อะไรๆ ก็คงจะดีขึ้น เป็นเรื่องดีมากที่อเมริกายืนกรานเรื่องการหยุดยิงเพราะมันจะนำสันติภาพมาให้
การเจรจาที่มาเลเซียในบ่ายวันนี้ (28 ก.ค.) จึงไม่ได้เป็นเพียงการพบกันของผู้นำ 2 ชาติ แต่เป็นการแบกรับความหวังของผู้คนนับ 100,000 ราย ที่ต้องการเพียงแค่ได้กลับบ้านและกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอีกครั้ง.
อ่านข่าวเพิ่มเติม