ดร.พิชาย สะท้อน ‘รัฐกล้วยาธิปไตย : จากหีบเลือกตั้งถึงห้องแจกงบ’ อนาคตเหลือแค่ ปชต. ฉาบด้วยเปลือกกล้วย
13 ก.ค.2568-รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “รัฐกล้วยาธิปไตย: จากหีบเลือกตั้งถึงห้องแจกงบ” เนื้อหาระบุว่า นี่ไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการทหาร ไม่ใช่ระบอบอภิชนาธิปไตย …แต่มันคือ “กล้วยาธิปไตย” ระบอบที่เสียงประชาชนคือของปลอม และผลประโยชน์คือเครื่องมือที่แท้จริงของอำนาจ
จุดเริ่มต้น: ซื้อเสียงคือสัญญาเช่าที่นั่งในสภา
การซื้อเสียงไม่ใช่อาชญากรรมในระบอบกล้วยาธิปไตย แต่มันคือ “ต้นทุนลงทุน”
เหมือนบริษัทจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในห้าง ผู้สมัครจ่ายเงินสด แลกกับการได้สิทธิ์ประกอบกิจการทางการเมืองในเขตเลือกตั้งหนึ่ง
ผู้สมัครบางคนตั้งงบประมาณเขตละ 10 ล้านบาท ถ้าต้องแข่งกับตระกูลใหญ่ในพื้นที่ อาจต้องทุ่ม 30 ล้าน เงินส่วนนี้ไม่ใช่เพียง “ให้ชาวบ้าน” แต่รวมถึงหัวคะแนน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู ผู้จัดรายการวิทยุ และพระบางรูปที่ “ยืดหยุ่นได้” เมื่อเข้าสภา กล้วยกลายเป็นค่าใช้จ่ายประจำ หลังการเลือกตั้ง ผู้แทนที่ชนะด้วยเงิน
ย่อมมีเป้าหมายเดียว: เอาเงินคืน พร้อมดอกเบี้ย
งบพัฒนาพื้นที่ คือวิธีเอากล้วยคืนจากกระทรวง การเสนอชื่อเข้าสู่กรรมาธิการ คือทางลัดสู่ “งบโครงการ” การย้ายพรรคคือการ เปลี่ยนสวน เพื่อหากล้วยที่ “หอมกว่า ใหญ่กว่า และแจกง่ายกว่า” ในโลกอุดมคติ งูเห่าอาจถูกประณาม แต่ในกล้วยาธิปไตย งูเห่าคือสิ่งจำเป็น พวกมันคือผู้รักษาสมดุล ทำหน้าที่ “เบี่ยงสมอง” จากประชาชนไปยังผู้มีอำนาจ งูเห่าอาจหักหลังพรรค
แต่ไม่เคยหักหลังกล้วย เพราะกล้วยให้ความชุ่มฉ่ำแบบที่อุดมการณ์ไม่เคยให้ได้
กลไกเชิงโครงสร้าง: ทำไมกล้วยจึงฝังแน่น?
รัฐธรรมนูญแบบบิดเบี้ยว สร้างระบบพรรคเล็ก พรรคเฉพาะกิจ พรรคขนส่งกล้วย สร้างระบบสัดส่วนบิดเบี้ยวที่ทำให้ “เสียงประชาชนมาก” แพ้ “เสียงกล้วยรวมกัน” ระบบราชการที่รับใช้ทุนการเมือง กลุ่มทุน-ราชการใหญ่-นักการเมืองกลายเป็น “กลุ่มผลประโยชน์เชิงกล้วย” กระทรวงคือโรงงานกล้วย กรมคือสายพาน นักการเมืองคือตัวแทนขายส่ง ประชาชนที่ถูกทำให้จนพอที่จะขายเสียง ไม่มีรัฐอนุรักษ์นิยมจารีตไหนที่ผู้มีอำนาจอยากให้ประชาชนมั่งคั่ง เพราะประชาชนที่ลำบากจะพร้อมแลกเสียงกับ “สิ่งของจำเป็นระยะสั้น” ถ้าคุณไม่มีเงินกินข้าววันนี้ อุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ไม่สำคัญอีกต่อไป
เมื่อไหร่เราจะเลิกใช้กล้วยเป็นเงินตราการเมือง? เมื่อการเมืองไม่มีต้นทุนสูงจนคนดีเข้าไม่ถึง เมื่อพรรคการเมืองไม่ต้องประกันงบพื้นที่เพื่อคุม ส.ส. เมื่อเราเลิกเรียกการ “ซื้อเสียง” ว่า “ช่วยเหลือประชาชน” และเมื่อประชาชนเลือกผู้นำจากนโยบาย ไม่ใช่จากน้ำหนักถุงข้าวสาร หากเรายังปล่อยให้ระบอบกล้วยาธิปไตยเติบโต เราอาจต้องยอมรับว่าสภาคือ “ตลาดนัดผลไม้” ที่กล้วยราคาดีมีค่ากว่าเสียงประชาชน และถ้าไม่มีใครโค่นต้นกล้วยในระบบ
อนาคตเราจะเหลือแค่ “ประชาธิปไตยฉาบด้วยเปลือกกล้วย”