รู้จัก “มาตรวัดชินโด” มาตรวัดระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวญี่ปุ่น
สำหรับคนที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวญี่ปุ่น คงเคยสังเกตเห็นว่า นอกจากจะรายงานขนาดของแผ่นดินไหวเป็นแมกนิจูด (Magnitude) แล้ว ญี่ปุ่นยังมีการรายงาน “ระดับความรุนแรง” ด้วย และหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น (JMA) มีมาตรวัดแผ่นดินไหวที่เรียกว่า “มาตรวัดชินโด” (震度) ซึ่งใช้ในการวัดระดับความรุนแรงของการสั่นสะเทือนในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 7
มาตรวัดชินโด “ไม่ใช่ขนาดของแผ่นดินไหว” ซึ่งเป็นค่าตัวเลขที่สะท้อนถึงขนาดหรือพลังของแผ่นดินไหวที่แหล่งกำเนิด แต่เป็นระดับของการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่จุดสังเกตต่าง ๆ ภายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ผลกระทบจะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อตัวเลขเพิ่มขึ้น โดยแม้จะมีตัวเลข 0 ถึง 7 แต่ชินโดมี 10 ระดับ เนื่องจากระดับ 5 และ 6 จะแบ่งออกเป็น 5- กับ 5+ และ 6- กับ 6+
สำหรับความหมายของมาตรวัดชินโดแต่ละระดับ มีดังนี้
ระดับ 0 – ผู้คนไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนใด ๆ
ระดับ 1 – ผู้คนที่อยู่ภายในอาคารจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อย
ระดับ 2 – ผู้คนที่อยู่ภายในอาคารจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน สิ่งของที่แขวนอยู่ เช่น หลอดไฟ แกว่งเล็กน้อย
ระดับ 3 – ผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ภายในอาคารจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน สิ่งของบนชั้นวางอาจสั่นไหว
ระดับ 4 – ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกได้แม้เดินอยู่ สิ่งของที่แขวนอยู่ เช่น หลอดไฟ อาจแกว่งอย่างรุนแรง และสิ่งของที่ไม่มั่นคงอาจพลิกคว่ำ
ระดับ 5- – ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกหวาดกลัวและต้องยึดสิ่งของเอาไว้ ของบนชั้นวางและชั้นวางหนังสืออาจหล่นลงมา
ระดับ 5+ – ผู้คนส่วนใหญ่พบว่าการเดินโดยไม่ยึดสิ่งของที่มั่นคงไว้เป็นเรื่องยาก เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้ยึดไว้แน่นอาจล้มลง
ระดับ 6- – เป็นเรื่องยากที่จะยืน ประตูอาจเปิดไม่ได้ กระเบื้องผนังและกระจกหน้าต่างอาจเสียหายและหล่นลงมา
ระดับ 6+ – ไม่สามารถยืนหรือเคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องคลาน เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้ยึดอยู่กับที่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ และสิ่งของต่าง ๆ จะตกลงมา
ระดับ 7 – เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้ยึดอยู่กับที่จะเคลื่อนที่ ล้มลง และอาจถูกเหวี่ยงด้วยแรงของแผ่นดินไหว ผู้คนไม่สามารถยืนได้และอาจถูกเหวี่ยงขึ้นไปในอากาศ ผนังคอนกรีตเสริมเหล็กอาจพังทลาย
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่และภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้เกือบทั่วประเทศ โดยพื้นที่บางส่วนของจังหวัดมิยากิวัดระดับชินโดได้ถึงระดับ 7 ส่วนบางพื้นที่ของโตเกียวรับร็ได้ถึงระดับ 5+ ส่วนคิวชูทางใต้รับรู้แค่ระดับ 1
ข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาย้อนหลังไปถึงปี 1919 แสดงให้เห็นว่า มีเพียง 6 ครั้งเท่านั้นที่ระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวญี่ปุ่นไปถึงระดับ 7 ได้แก่
- แผ่นดินไหวอ่าวโอซากา จังหวัดโกเบ ม.ค. 1995
- แผ่นดินไหวชูเอ็ตสึ จังหวัดนีงาตะ ต.ค. 2004
- แผ่นดินไหวฟุกุชิมะ มี.ค. 2011
- แผ่นดินไหวคุมาโมโตะ เม.ย. 2016
- แผ่นดินไหวฮอกไกโด ก.ย. 2018
- แผ่นดินไหวคาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะ ม.ค. 2024
จนถึงปี 1996 เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ประจำการอยู่ทั่วประเทศจะเป็นผู้วัดระดับชินโด แต่ปัจจุบัน เครือข่ายของเครื่องวัดแผ่นดินไหวครอบคลุมทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยวัดคลื่น P ปฐมภูมิเมื่อเกิดแผ่นดินไหว คอมพิวเตอร์ของหน่วยงานจะรวบรวมข้อมูลและออกประมาณการขนาดและตำแหน่งที่น่าจะเป็นไปได้เกือบจะทันที เครือข่ายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแจ้งระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าของญี่ปุ่น
เมื่อตรวจพบแผ่นดินไหวขนาดหนึ่ง ๆ ระบบจะแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หน้าจอทีวี รถไฟจะหยุดโดยอัตโนมัติ และผู้คนจะได้รับเวลาในการเตรียมตัวก่อนที่คลื่น S ที่สร้างความเสียหายจะถล่มพื้นที่
เรียบเรียงจาก Japan Meteorological Agency / Japan Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประชาชนหมู่บ้านโทชิมะเริ่มอพยพบางส่วน หลังแผ่นดินไหวทะลุ 1,150 ครั้ง
แผ่นดินไหวญี่ปุ่นทะลุ 1,000 ครั้ง ผู้เชี่ยวชาญยันไม่เกี่ยวร่องลึกนันไค
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รู้จัก “มาตรวัดชินโด” มาตรวัดระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวญี่ปุ่น
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com