‘Tetra Pak’ ลงทุนอีก 97 ล้านยูโร ขยายโรงงานผลิตกล่องไลน์ที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตแตะ 30,000 ชิ้นต่อปี
‘เอเชียแปซิฟิก’ ถือเป็นภูมิภาคที่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มแข่งขันค่อนข้างดุเดือดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยประเมินว่ามีมูลค่าตลาดกว่า 667 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 และจะเติบโตไปถึง 900 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2571
‘เต็ดตรา แพ้ค’ (Tetra Pak)ในฐานะที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การบรรจุ และบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม เผยข้อมูลว่า ผลสำรวจที่ผ่านมากว่า 72% ของผู้บริโภคมองว่า บรรจุภัณฑ์มีส่วนอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของพวกเขา
และนั่นไม่ใช่แค่บรรจุภัณฑ์ที่สวยหรือสะดุดตา แต่รวมไปถึงความสะดวกในการใช้ รูปลักษณ์ ความคล่องในการพกพาหรือขนส่ง รวมไปถึงขั้นตอนจัดการเมื่อเป็นขยะ
ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การขยายการผลิตของ Tetra Pak ในไลน์ผลิตที่ 2 ที่ประเทศเวียดนาม ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์เรื่องปริมาณที่ต้องการ แต่หมายถึงการเพิ่มดีไซน์ใหม่ของบรรจุภัณฑ์ด้วย จาก 11 รูปแบบ เป็น 26 รูปแบบด้วย
ซึ่ง Tetra Pak ใช้เงินลงทุนในครั้งนี้ไปกว่า 97 ล้านยูโร (ประมาณ 3,698 ล้านบาท) โดยเป็นการขยายไลน์ผลิตเครื่องที่ 2 สำหรับผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์กระดาษแบบปลอดเชื้อในโรงงานเมืองบิ่ญเยือง (Binh Duong) นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2562
[ ความพร้อมของตลาดแรงงานในเวียดนาม ]
‘เวียดนาม’ ถือว่าเป็นตลาดที่มีจำนวนแรงงานเข้าสู่ตลาดค่อนข้างมาก โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO) ของเวียดนาม ระบุว่า แรงงานชาวเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 500,000 คนเข้าสู่ตลาดแรงงานทุกปี และส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน
ขณะที่ไตรมาส 1/2568 ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีมากถึง 52.9 ล้านคน ลดลง 230,700 คน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้
ที่น่าสนใจคือ เป็นกลุ่มที่ผ่านการฝึกอบรม มีวุฒิการศึกษาและประกาศนียบัตร เพิ่มขึ้นราว 0.2% ในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 28.8% เทียบช่วงไตรมาสก่อน
โดยสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง มีการลดจำนวนลง แต่สัดส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 17.2 ล้านคน เพิ่มอีก 262,000 คน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาคบริการ เพิ่มขึ้น 575,000 คนเป็น 21.2 ล้านคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
[ ความต้องการแพ็คเกจกระดาษยังเพิ่ม แต่มีดีมานด์ที่หลากหลาย ]
อดอลโฟ โอริเว่ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “การขยายขีดความสามารถของโรงงานในเมืองบิ่ญเยืองครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ด้วยโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ล้ำสมัยและยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างงาน พัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้”
“เป้าหมายการผลิต 30,000 ล้านชิ้นต่อปี (จาก 12,000 ล้านกล่อง) คือเป้าหมายของเรา อีกทั้งเราได้จ้างงานไปแล้วกว่า 260 ล้านคน ความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมายถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เราจะต้องพัฒนามากขึ้นด้วย”
เขาย้ำว่า บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เทรนด์ในปัจจุบันก็คือ ให้ความสะดวกสบาย ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจาก innova market insights ระบุว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์กระดาษทั่วโลกคาดว่า จะมี market size อยู่ที่ 527.1 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 บ่งบอกว่า ความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลกเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ ‘รัตนศิริ ติลกสกุลชัย’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “รูปแบบที่เพิ่มเข้ามาอีก 15 แบบเพื่อเสริมความต้องการที่หลากหลายโดยเฉพาะในภูมิภาคนี้เป็นหลัก”
“ส่วนเหตุผลของการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพราะการเติบโตในภูมิภาคนี้โตชัดเจน ในไทยอาจจะไม่ได้โตในเชิงจำนวนประชากร แต่เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ เติบดตขึ้น รวมไปถึงกลุ่ม middle-class ที่โตขึ้นด้วย นั่นหมายถึงความต้องการที่หลากหลาย และกำลังการซื้อที่เพิ่ม ความสนใจในเรื่องสุขภาพ และนวัตกรรมต่างๆ ก็เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเช่นกัน”
เทรนด์ที่กำลังมาในปีนี้ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นคล้ายกันในเอเชีย และทั่วโลก อย่างเช่น
แพ็คเกจต้องมีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ให้ความสะดวกสำหรับผู้ใช้งาน พกพาง่าย
ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ เรื่องความปลอดภัยทางอาหารและเครื่องดื่ม
ปัจจุบันมีการเติบโตของกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวอย่างชัดเจน ซึ่งแพ็คเกจที่ถูกต้อง ปริมาณ และดีไซน์ที่เหมาะสมจะช่วยให้นำสินค้าออกสู่ตลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในแง่ของธุรกิจการขนส่งบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษจะง่ายกว่าบรรจุภัณฑ์แบบอื่น ซึ่งจะให้ประโยชน์ต่อต้นทุนการขนส่งด้วย
ส่วนในประเทศไทย ล่าสุด Tetra Pak ได้เปิด‘Customer Innovation Center’ ที่กรุงเทพฯ เพื่อพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับลูกค้า เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ สร้างโปรดักส์ใหม่ๆ เพื่อลูกค้า
และในช่วงต้นปี 2569 เตรียมจะเปิด‘Product Development Center’ บนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ในจ.ระยอง ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในไทย เป็นพื้นที่ที่นำไอเดียที่ได้มาพัฒนาต่อในสเกลที่เล็กกว่า เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจก่อนออกสู่ตลาดในอนาคต ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะรองรับการเติบโตของภูมิภาคนี้
จะเห็นว่า การลงทุนของ Tetra Pak ในแต่ละประเทศ จะมองจากศักยภาพและความเชี่ยวชาญของประเทศนั้นๆ เป็นหลัก อย่างเวียดนามที่มีความพร้อมในแง่ของจำนวนแรงงานและคุณภาพของแรงงาน
ส่วนไทยเอง ก็คือเรื่องความสร้างสรรค์ ไอเดีย และการช่วยเหลือในเชิงโซลูชั่นให้กับลูกค้า เพิ่มโอกาสให้กับลูกค้าได้เติบโตขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในแง่ของการรักษ์โลก สุขภาพที่ดีขึ้นจาก food security ของบรรจุภัณฑ์ และความสะดวกในการใช้งาน
Tetra Pak (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิต ‘หลอดและฝา’ เคยได้รับรางวัลจากการพัฒนารูปแบบฝาเปิดที่ช่วยลดปัญหาการสูญเสียทรัพยากร และเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน หนึ่งในนั้นก็คือ Tethered Caps (ฝาแบบไม่หาย) ที่เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งเพื่อลดปัญหานั่นเอง