“กรณ์” แนะ “วิทัย” ใช้งานลบข้อครหา ชี้งานท้าทายแก้เงินฝืด-ค่าบาท
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วตัว (กรณ์ จาติกวณิช-Korn Chatikavanij) เกี่ยวกับการแต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ว่า ธปท.) คนใหม่ โดยมีข้อความระบุว่า
ขอแสดงความยินดีกับท่านผู้ว่าฯ วิทัย รัตนากร เป็นช่วงเวลาการรับตำแหน่งที่ท้าทายและน่าสนใจมาก
แต่ก่อนอื่น ขอพูดถึงเรื่อง การเป็นอิสระ เพราะเป็นประเด็นที่สังคมกังวล ท่านวิทัยเคยรับตำแหน่งที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งมาแล้วหลายตำแหน่ง โดยสังคมคุ้นเคยว่าปกติทั่วไปตำแหน่งเหล่านั้นจะได้มาต้องมีการวิ่งเต้นไม่มากก็น้อย แถมรัฐบาลนี้ได้แสดงความไม่พอใจกับผู้ว่าแบงก์ชาติท่านปัจจุบันมาตลอด จึงเกิดความรู้สึกว่าใครที่รัฐบาลนี้เลือกคงต้องมีความเป็นพวกผู้แต่งตั้ง ไม่มากก็น้อย
ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ท่านไม่ต้องออกมายืนยันทางใดทางหนึ่ง แต่ควรจะคลี่คลายความกังวลนี้ด้วยการทำงานของท่านให้เป็นที่ปรากฏ
ส่วนตัวนั้นได้ยินคำชมเชยจากเพื่อนร่วมงานในอดีตของท่านมาหลายคน เคยได้ยินด้วยซ้ำไปว่ามี สส.ที่เคยวิ่งขอให้ช่วยเรื่องปัญหาหนี้สินของคนโน้นคนนี้ (ที่ออมสิน) ถูกท่านปฏิเสธเป็นประจำ
ที่สำคัญที่สุดคือ จากนี้ไปท่านมีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่ พรบ.แบงก์ชาติถูกร่างขึ้นมาเพื่อปกป้องความเป็นอิสระขององค์กร (และของท่านผู้ว่าฯ) ไม่ว่าผู้แต่งตั้งท่านจะคิดหรือหวังอย่างไร จากนี้ไปถือว่าตั้งแล้วตั้งเลยเอาท่านออกไม่ได้
และว่าไปแล้วโอกาสที่ท่านจะอยู่ในตำแหน่งนานกว่ารัฐบาลที่แต่งตั้งท่านนั้นสูงมาก จึงเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่
แม้ท่านไม่ได้เป็นลูกหม้อแบงก์ชาติ และอาจมีประสบการณ์ทางด้านเศรษฐกิจมหภาคน้อยกว่าอดีตผู้ว่าฯ หลายคน แต่ในแบงก์ชาติมีคนเก่งเยอะมาก ผมเชื่อว่าท่านจะไม่ขาดคำปรึกษาและเพื่อนร่วมงานที่ดี ในขณะที่ประสบการณ์เศรษฐกิจจุลภาคจองท่าน การที่ท่านเคยกู้เงินในฐานะ CFO บริษัทเอกชน และการที่ท่านเคยมองตาชาวบ้านที่เดือดร้อนหนี้ท่วมหัวมาแล้วหลายคนจนนับไม่ถ้วน (ในฐานะ ผอ.ธนาคารออมสิน) เชื่อว่านี่คือประสบการณ์ที่จะช่วยท่านกำหนดนโยบายที่เหมาะสมที่แบงก์ชาติได้เช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมมีเพียงว่า แบงก์ชาติมีหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ไม่ได้มีหน้าที่หลักที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโต และบางครั้งสองเป้าหมายนี้จะขัดแย้งกัน!
ส่วนงานที่รอท่านอยู่ท้าทายมากหลายเรื่องจริงๆ เริ่มด้วยปัญหาเศรษฐกิจ สภาวะเงินฝืด เงินบาทที่แข็งค่าเกินควร แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ต้นทุนทางการเงินที่สูงมาก (ส่วนต่างดอกเบี้ย) และปัญหาหนี้ครัวเรือน
โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ท้าทายแบงก์ชาติ บางเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น เราจะอยู่กับ crypto อย่างไร? เราจะมี CBDC หรือไม่? หรือเราจะส่งเสริม baht stable coin? แล้วเราจะป้องกันการฟอกเงินได้จริงหรือไม่? เราจะปรับตัวกับ de-fi และจะส่งเสริมการแข่งขันด้วยการส่งเสริม fintech อย่างไร?
บางการเปลี่ยนแปลงมาจากภูมิรัฐศาสตร์ เช่นการอ่อนค่าต่อเนื่องของสกุลเงินดอลล่าร์ (ตามนโยบายของรัฐบาลอเมริกา?) จะส่งผลกับไทยอย่างไร? ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การถือทุนสำรองหรือไม่?
และสุดท้ายคือบทบาทแบงก์ชาติต่อนโยบายของรัฐบาล เช่น พรบ.ศูนย์กลางการเงิน ที่รัฐบาลมีเจตนาจะสร้างพื้นที่ให้ธุรกิจการเงินในไทยอยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของแบงก์ชาติ (และฝ่ายกำกับอื่นๆ) แบงก์ชาติจะป้องกัน integrity ของระบบการเงินของเราได้หรือไม่อย่างไร?
ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง และเป็นกำลังใจ สังคมจะจำท่านอย่างไร ขึ้นอยู่กับท่านแล้ว
ปล. เราไม่รู้จักกัน แต่ตนเคยเป็นเด็กฝึกงานอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ ในสมัยที่คุณแม่ท่านวิทัยเป็นผู้จัดการใหญ่เมื่อปี 2528