“แพทองธาร” เป็นประธานพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 2.07 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกทม. 15 ก.ค.-“แพทองธาร” รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา กำหนดจัดพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อถวายพระราชกุศลและถวายพระพรชัยมงคล แสดงความจงรักภักดีและสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า โดยการจัดพิธีในครั้งนี้นับเป็นการรวมพลังศรัทธาและความสามัคคีของประชาชนชาวไทยจากทุกศาสนา ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ผู้ทรงทำนุบำรุงและอุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนาอย่าง
เสมอภาคและต่อเนื่องตลอดรัชสมัย ทั้งนี้ กรมการศาสนาได้ประสานความร่วมมือกับองค์การทางศาสนาทั้ง 15 องค์การ จาก 5 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ รวมทั้งหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งผู้ประกอบพิธีทางศาสนา ผู้นำทางศาสนา ศาสนิกชน เครือข่ายสถานศึกษา ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม รวมกว่า 1,000 คน
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนาในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาและพระองค์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 รวมทั้งทรงอุปถัมภ์และส่งเสริมกิจการทางศาสนาต่างๆ อย่างเสมอภาค และทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย พร้อมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติให้คงอยู่สืบไป
“การจัดกิจกรรมประกอบด้วย พิธีถวายพระพรชัยมงคล และพิธีทางศาสนา 5 ศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ได้แก่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ (ศาสนาพุทธ) พิธีดุอาอ์ขอพร (ศาสนาอิสลาม) พิธีอธิษฐานภาวนา (ศาสนาคริสต์) พิธีสวดมนต์ขอพร (ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู) และพิธีสวดอัรดาสและกีรตัน (ศาสนาซิกข์) นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การจัดแสดงศาสนวัตถุสำคัญ และการสาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชนศาสนิกสัมพันธ์จาก 10 ชุมชนของแต่ละศาสนา เป็นการสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และอัตลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละศาสนา พร้อมทั้งแสดงถึงความร่วมมือของคนชุมชน ในการสื่อสารคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเองต่อสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ ในส่วนของภูมิภาค วธ.ได้ให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด (สวจ.) ร่วมมือกับส่วนราชการ องค์การศาสนา องค์กรภาคเอกชน วัดและศาสนสถานจัดพิธี ทางศาสนา
เฉลิมพระเกียรติ เพื่อถวายพระราชกุศลตามความเหมาะสมของสถานที่ รวมถึงร่วมประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติ ธง วปร ณ สถานที่ราชการ วัด ศาสนสถาน สถานศึกษา สำนักงาน ตลอดถึงอาคารบ้านเรือนของประชาชนอีกด้วย”
รมว.วัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า พิธีทางศาสนาในครั้งนี้มิได้เป็นเพียงกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเวทีสำคัญที่สะท้อนถึงพลังแห่งความศรัทธา ความสมานฉันท์ และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวของประชาชนในสังคมพหุวัฒนธรรม ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงทำนุบำรุงศาสนา ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา ปฏิบัติตนในทางคุณงามความดี และร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งศรัทธา ความเข้าใจ และความสามัคคีอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมสาธิตจาก 10 ชุมชนศาสนิกสัมพันธ์ เช่น ร้อยมาลัย พับใบเตย เขียนอักษรอาหรับ คลุมฮิญาบ โพกหัวซิกข์ และชิมขนมพื้นถิ่นหลากหลาย เช่น ขนมฝรั่งกุฎีจีน เกชาดัช ซาโมซา ชาอินเดีย ฯลฯ เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้และลงมือทำจริง สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และอัตลักษณ์ของแต่ละศาสนา เสริมสร้างความเข้าใจอันดีในสังคมพหุวัฒนธรรมอีกด้วย.-612.-สำนักข่าวไทย