ทรัมป์จี้เฟดลดดอกเบี้ยเหลือ 1% หวังลดต้นทุนกู้เงิน เสี่ยงเงินเฟ้อพุ่ง-ศก.เสียวูบ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการให้เฟด(Fed) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือเพียง 1% โดยให้เหตุผลว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินได้ถูกลง เพื่อนำมาใช้กับมาตรการใช้จ่ายและลดภาษีตามนโยบาย One Big Beautiful Bill Act ที่เพิ่งผ่านสภาคองเกรสไปเมื่อไม่นานนี้
แต่เสียงสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญกลับมองต่าง เพราะการลดดอกเบี้ยลงเหลือระดับต่ำผิดปกติในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่วิกฤติ อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกตีความว่า Fed ยอมอ่อนข้อให้กับแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเสี่ยงทำให้ความคาดหวังด้านเงินเฟ้อ (inflation expectation) หลุดกรอบ และอาจเกิดภาวะเงินเฟ้อระลอกใหม่ในไม่ช้า
เกรกอรี แดโก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก EY-Parthenon ระบุว่า แม้ในเชิงเทคนิคยังพอมีช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยลงจากระดับปัจจุบันที่ 4.25%-4.50% แต่การหั่นดอกเบี้ยลงถึงระดับ 1% อย่างที่ทรัมป์ต้องการนั้นถือว่า “มากเกินไป” เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งอัตราการว่างงานที่อยู่ที่ 4.1% อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจราว 2% และอัตราเงินเฟ้อที่สูงประมาณ 2.5% ยังไม่มีปัจจัยใดบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยอย่างเร่งด่วนหรือในระดับรุนแรง
แม้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1% จะเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐฯ แต่ก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความไม่ปกติ เช่น ช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ภายใต้รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช หรือช่วงวิกฤตการเงินโลกในยุคของบารัค โอบามา รวมถึงช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดในปลายวาระแรกของทรัมป์เอง การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากมักเป็น “ยาแรง” สำหรับสถานการณ์ที่รุนแรง ไม่ใช่สัญญาณของเศรษฐกิจร้อนแรงและน่าลงทุนอย่างที่ทรัมป์พยายามโฆษณา
ที่สำคัญ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดแม้จะมีอิทธิพลอย่างสูงต่อเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดโดยตรงต่ออัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในตลาด เช่น ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน บัตรเครดิต หรือดอกเบี้ยของภาคธุรกิจ เพราะปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลก คือ อุปสงค์-อุปทาน และความเสี่ยงของผู้ออกตราสาร
ในกรณีของสหรัฐฯ การที่รัฐบาลมีแนวโน้มก่อหนี้มากขึ้นหลังผ่านร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill Act หมายความว่า “อุปทาน” ของพันธบัตรจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ในขณะที่ฝั่ง “อุปสงค์” จากนักลงทุนต่างชาติและกองทุนบำนาญแม้จะยังแข็งแกร่ง เพราะยังมองว่าสหรัฐฯ คือที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีขีดจำกัด โดยเฉพาะหากพวกเขาเริ่มไม่มั่นใจว่าเฟดจะรักษาความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารได้หรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น นักลงทุนยังต้องการค่าตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการผูกเงินไว้ในสินทรัพย์ระยะยาวอย่างพันธบัตร 10 ปี ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ความเสี่ยงเหล่านี้ล้วนสะท้อนกลับมาในรูปของ “term premium” ซึ่งอาจเพิ่มสูงขึ้นหากนโยบายของเฟดถูกมองว่าถูกแทรกแซง
ก่อนหน้านี้เอง ทรัมป์เคยขู่ปลดประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield) พุ่งสูงในทันที ก่อนที่เขาจะต้องถอยกลับ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนชัดเจนจากตลาดโลกว่าความเป็นอิสระของเฟดไม่ใช่สิ่งที่สามารถต่อรองได้
รายงานระบุว่า ทรัมป์ถึงกับส่งบันทึกเขียนด้วยลายมือถึงพาวเวลล์ โดยระบุว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดควรอยู่ในระดับใกล้เคียงกับชาติอื่น ๆ ที่ต่ำกว่า ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ เองย้ำว่าการตัดสินใจด้านนโยบายจะต้องอิงจากสูตรคำนวณที่สัมพันธ์กับข้อมูลเศรษฐกิจและคาดการณ์เงินเฟ้ออย่างมีหลักการ และไม่มีสูตรไหนที่สนับสนุนแนวคิดลดดอกเบี้ยเหลือ 1% ตามที่ทรัมป์เรียกร้อง
แม้ทรัมป์จะต้องการ “ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการเติบโต” แต่หากกดดันเฟดสำเร็จโดยไม่ดูบริบทของเศรษฐกิจ อาจได้ผลลัพธ์ที่กลับตาลปัตร เสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลก สร้างความผันผวนแก่ตลาด และในระยะยาวอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อครั้งใหม่ในสหรัฐฯ เองก็เป็นได้