ดีล”ปชน.-ภท.”ประหลาด
“เพื่อไทย” เย้ยแนวคิด “ปชน.-ภท.”ดัน “เสี่ยหนู”นั่ง “นายกฯ ชั่วคราว” แค่ฝันกลางวัน ส่วน“ชูศักดิ์”ชี้สุดแปลกประหลาด มั่นใจ การเมืองยังไม่ถึงทางตัน เชื่อ “นายกฯอิ๊งค์” แจงศาลรัฐธรรมนูญได้ ขณะที่ “สวนดุสิตโพล”เผยคนส่วนใหญ่เมินร่วมชุมนุม เหตุไม่เชื่อว่าจะเป็นทางออก เปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 6 ก.ค.68 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงข้อเสนอนายกรัฐมนตรีชั่วคราวว่า สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ยังไม่ถึงกับเดินไปจุดนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แค่หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยออกมา ฉะนั้น ขออย่าเพิ่งมองในแง่ร้ายเกินไป
“พรรคฝ่ายค้าน ทั้งที่ตั้งใจฝันและแอบฝัน ยังไม่ทันกลางคืนก็ฝันกลางวันเสียแล้ว อย่าเพิ่งคิดไปไกล รวมเสียงข้างน้อยแข่งขันโหวตนายกรัฐมนตรีชั่วคราว บอกว่าจะมาอยู่เพียงไม่กี่เดือนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จุดยืนของพรรคประชาชนยืนยันมาโดยตลอดต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ขอยกเว้นหมวด1-2 ไหนจะนโยบายปฏิรูปกองทัพที่มา การทำหน้าที่ องค์กรอิสระ สว. แนวคิด อุดมการณ์ จะจับมือเดินไปตลอดรอดฝั่งกันได้จริงหรือไม่ การจะชูนายกรัฐมนตรีของพรรคฝ่ายค้าน ตกลงกันลงตัวแล้วใช่หรือไม่ว่า จะชูใครมาแข่งขัน พรรคส้มหรือพรรคประชาชนมีจำนวนเสียงมากกว่าพรรคภูมิใจไทย จะจำยอมฝืนทนเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคสีน้ำเงินได้จริงๆหรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็แสดงออกทางเจตนาว่าพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน ผมมองว่าไปหาแคนดิเดตนายกฯของฝ่ายค้าน เคลียร์กันให้ลงตัวก่อนดีกว่า และทางที่ดีพรรคประชาชนน่าจะทำสิ่งที่ถนัดคือ ตั้งครม.เงาขึ้นมาประกบ ตรวจสอบการทำงานรัฐมนตรีของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเห็นว่าไม่ได้เก่งแต่ในโซเชียล”
ส่วน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเมืองกำลังนำไปสู่ทางตัน และอาจเป็นเหตุให้ขั้วพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคภูมิใจไทย-ประชาชน-พลังประชารัฐ พลิกขั้วตั้งรัฐบาลว่า การที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้หมายความว่าจะต้องเกิดกรณีว่าท้ายที่สุดแล้ว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง แต่ในขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่ได้ชี้ขาด แต่ยังให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
“เชื่อว่าเป็นกระบวนการที่จะชี้แจงกันได้ ทำความเข้าใจกันได้ว่าท้ายที่สุดเป็นอย่างไร เพราะว่าหากเราดูตามเนื้อผ้าจริงๆ ใครก็ต้องดูเนื้อผ้า เข้าข่ายจริยธรรมอะไรบ้าง ผมพูดตรงๆ กลางๆ คิดว่าไม่ได้มีผิดจริยธรรมอะไรเลย เพียงแต่ว่าสภาพการเมืองนำพาไปกลบ ไปเลือกหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง เอาเป็นว่าเอาการเมืองเป็นหลัก พูดง่ายๆ ว่ากระบวนการเหล่านี้ยังเดินอยู่ ยังไปได้อยู่ ฝ่ายรัฐบาลยังคิดว่าสามารถชี้แจงทำความเข้าใจได้ จะไปถึงจุดนั้นที่ถามว่ายังอีกไกล”
นายชูศักดิ์ กล่าวถึงดีลการเมือง พรรคประชาชนกับพรรคภูมิใจไทย ที่มีกระแสข่าวว่าสนับสนุนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวว่า มองว่าเป็นข่าวทางการเมือง แต่โดยสภาพความเป็นจริงไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ยังเชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองไหนโหวตให้นายอนุทิน เป็นนายกฯ โดยที่ไม่ได้ร่วมเป็นรัฐบาล
“สมมุติว่าเป็นอย่างนั้นจริงก็ไม่เชื่อว่านายกฯ ที่ว่า จะไปทำอย่างนั้นได้ เป็นนายกฯ แล้วก็สบายตัวมากกว่ามั้ง ดีลแบบนี้ เป็นดีลแปลกประหลาด สภาพความเป็นจริงสังคมไทย การเมืองไทย จะเป็นอย่างนั้นได้ไหม ถึงขนาดนั้นเลยเหรอ ว่าให้คุณเป็นนายกฯ แต่ผมไม่ร่วมรัฐบาล แต่คุณจะต้องทำ 1-2-3-4 และไอ้ทำ 1-2-3-4 จะเป็นรูปธรรมทำให้จริงหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ จริงๆ ถ้าทำแบบนั้นไม่เกิดขึ้นจริง” นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มองไปไกลถึงขั้นกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชี้ขาดให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง โดยยังเชื่อว่ายังคงอยู่ในกระบวนการการชี้แจงของ น.ส.แพทองธาร ให้ดำเนินไปได้ด้วยดี และยังหวังว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับศาลได้
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206/2568 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สั่ง ณ วันที่ 4 ก.ค.2568 ดังนี้ 1. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี 1.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.กระทรวงกลาโหม 2.กระทรวงการต่างประเทศ 3.กระทรวงมหาดไทย และ 4.กระทรวงยุติธรรม
1.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติ ดังนี้ 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2.สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 3.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 4.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 5.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และ 6.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1.3 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.2 ยกเว้น 1.3.1 เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย 1.3.2 การสถาปนาพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ สมณศักดิ์ 1.3.3 การแต่งตั้ง ในกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม เอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ กงสุล และกรรมการที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ 1.3.4 การพระราชทานยศทหาร ตำรวจ ชั้นนายพล 1.3.5 การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี 1.3.6 การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการประกาศใช้ความตกลงระหว่างประเทศ 1.3.7 เรื่องสำคัญที่เคยมีประเพณีปฏิบัติให้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม
2.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี 2.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2.กระทรวงคมนาคม 3.กระทรวงแรงงาน 4.กระทรวงวัฒนธรรม และ 5.กระทรวงสาธารณสุข 2.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 2.สำนักงานคณะกรรรมการพัฒนาระบบราชการ 2.3 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 1.สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) 2.สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี 3.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2.กระทรวงพลังงาน 3.กระทรวงอุตสาหกรรม 4.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 5.สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 6.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 7.สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รวมทั้งราชการของราชบัณฑิตยสภา) 3.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 1.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
4.นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี 4.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.กระทรวงการคลัง 2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.กระทรวงพาณิชย์ 4.สำนักงบประมาณ (ยกเว้นที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ) 4.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 4.3 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 1.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
5.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี 5.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.กระทรวงศึกษาธิการ 5.กรมประชาสัมพันธ์
6.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ 7.สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง 5.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 2.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 5.3 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 1.สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 2.สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) 3.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 4.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 5.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ 6.สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
6. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 6.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 3.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 4.สำนักงบประมาณ 7. น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 7.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.กรมประชาสัมพันธ์ 2.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 3.สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง 7.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 1.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) 2.สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และ 3.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
8. นายสุชาติ ตันเจริญ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 8.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนดี ดังนี้ 1.สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 3.สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รวมทั้งราชการของราชบัณฑิตยสภา) 8.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ 1.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐแทนนายกรัฐมนตรี ให้มีอำนาจให้ความเห็นชอบและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี หรือประกาศเกี่ยวกับเรื่องของหน่วยงานนั้น ๆ ดังนี้ 1.การแต่งตั้งบุคคลหรือกรรมการในหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น 2.การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ชาวต่างประเทศ ยกเว้นเป็นเรื่องระดับผู้นำรัฐบาลหรือประมุขของรัฐต่างประเทศการให้ความเห็นชอบในการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตราจากต่างประเทศ การประกาศภาพเครื่องหมายราชการ
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้มีอำนาจปฏิบัติแทนนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการในหน่วยงานที่สังกัดและปฏิบัติราชการ และให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในส่วนราชการใด เป็นประธาน อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวงของส่วนราชการนั้นด้วย นอกจากนี้ ราชการที่รองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายและมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ หากรองนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นส่วนรวม หรือต้องสั่งการแก่หลายส่วนราชการหรือหลายรัฐวิสาหกิจแต่บางส่วนมิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่กำกับการบริหารราชการของรองนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งผู้โดโดยตรง ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยสั่งการ
ขณะเดียวกันเมื่อรองนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจแล้วให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะตามความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ให้รองนายกรัฐมนตรีบริหารราชการโดยมุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “การชุมนุมทางการเมือง ในสายตาคนไทย 2568” พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่สนใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 38.39 โดยคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.93 จุดเด่นคือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 55.28 จุดด้อยคือมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง ร้อยละ 48.16
ทั้งนี้ เมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง ก็คาดหวังว่าจะมีการลาออกของผู้นำรัฐบาล ร้อยละ 58.58 ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเกิดรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย เป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 42.50