เปิดรายชื่อ 7 พยาน DSI เรียกสอบคดีฟอกเงินฮั้ว สว. โยงเส้นเงิน 24 จังหวัด
กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ที่เป็นสมาชิกอั้งยี่และผู้สนับสนุน ได้ทำการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ลงพื้นที่จริงและจำลองเหตุการณ์ ณ อิมแพ็ค ฟอรัม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ใช้เลือก สว. ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.67 กระทั่งสืบสวนเส้นทางการเงินพบบุคคลกลุ่มแรก 7 ราย มีเส้นทางการเงินใกล้ชิดขบวนการจัดฮั้ว สว. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงออกหมายเรียกพยานลอตแรก เพื่อสอบสวนปากคำในวันที่ 1 ก.ค. ตามที่นำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
จับตา! DSI ลุยสอบ 7 พยานลอตแรกคดีฮั้วสว. ลุ้นขยายผลเอี่ยวนักการเมือง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ กองคดีการฟอกเงินทางอาญา ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รายงานว่า สำหรับคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ที่เป็นสมาชิกอั้งยี่และผู้สนับสนุน หรือคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สว. นั้น กองคดีการฟอกเงินทางอาญา ได้ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง จนพบพฤติการณ์ คือ 1.มีการโอนเงินในลักษณะเครือข่ายที่มีการจ้างผู้สมัคร 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ลำพูน และหนองบัวลำภู 2.พบเส้นทางการเงินที่เกี่ยวพันกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 24 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคใต้ 7 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี, สตูล, สงขลา, ระนอง, กระบี่, ภูเก็ต และชุมพร ภาคอีสาน 8 จังหวัด คือ หนองบัวลำภู, นครพนม, บุรีรัมย์, บึงกาฬ, อำนาจเจริญ, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี และขอนแก่น ภาคกลาง 6 จังหวัด คือ สิงห์บุรี, นนทบุรี, ราชบุรี, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง และเพชรบุรี ภาคเหนือ 2 จังหวัด คือ ลำพูน และลำปาง ภาคตะวันออก 1 จังหวัด คือ ตราด
ในการออกหมายเรียกพยานที่เกี่ยวข้องกลุ่มแรก 7 ราย มาให้ปากคำชี้แจงเส้นทางการเงิน นอกจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอแล้ว ยังมีพนักงานอัยการเพื่อร่วมสอบคำให้การพยานอีกด้วย เบื้องต้นพยานที่ต้องให้ปากคำ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย 1.นายวรพจน์ (สงวนนามสกุล) 2.น.ส.สินิตา (สงวนนามสกุล) 3.นายสุบิน (สงวนนามสกุล) 4.น.ส.ญาณี (สงวนนามสกุล) ส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 1 ราย คือ น.ส.ภัณนิภา (สงวนนามสกุล) ขณะที่จังหวัดลำพูน จำนวน 2 ราย คือ 1.นายอากร (สงวนนามสกุล) และ 2.นายอาทร (สงวนนามสกุล) โดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มคนที่ถูกเชิญรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ในคดีความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ส่วนกลาง คณะที่ 26 ของ กกต. (ชุด 7 อรหันต์) เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้มาเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยมีเพียงรายงานว่า ได้มีพยานมาเข้าพบพนักงานสอบสวนเพียง 1 ราย คือ น.ส.สินิตา (สงวนนามสกุล) ซึ่งตอนมาถึงผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถาม น.ส.สินิตา ว่าวันนี้ได้เดินทางมาให้ข้อมูลในคดีใด ปรากฏว่าเจ้าตัวยิ้มตอบรับ และเมื่อถามต่อว่ามาเรื่องคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สว. ใช่หรือไม่ ปรากฏว่าเจ้าตัวปฏิเสธและเดินเข้าห้องกองคดีทันที ต่อมาเวลา 11.00 น. น.ส.สินิตา ได้เดินออกจากห้องกองคดีฯ ผู้สื่อข่าวจึงพยายามเข้าไปสอบถามว่า ชื่อ-สกุล น.ส.สินิตา หรือไม่ และมาให้ข้อมูลพนักงานสอบสวนในคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สว. ใช่หรือไม่ ปรากฏว่าเจ้าตัวยอมรับว่าชื่อ น.ส.สินิตา แต่ไม่ได้ยืนยันในนามสกุลดังกล่าว พร้อมบอกว่ามาให้ข้อมูลเรื่องส่วนตัว เรื่องคอนโดมิเนียม ไม่ใช่คดีอั้งยี่-ฟอกเงิน
ต่อมาเวลา 11.20 น. นายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา ได้ออกมาเปิดเผยว่า วันนี้ได้มีพยานเดินทางมาเข้าให้ข้อมูลพนักงานสอบสวน 1 ราย คือ น.ส.สินิตา โดยมีการให้ข้อมูลเรื่องเส้นทางการเงิน ที่มาที่ไปของเงิน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มีการให้เจ้าตัวตอบเรื่องเส้นทางการเงินที่ปรากฏในพยานหลักฐาน ว่ามีการโอนหรือรับโอนอย่างไรบ้าง ซึ่งแม้ว่าเราจะพบความเกี่ยวข้องในเรื่องเส้นทางการเงิน แต่ก็ต้องดูลงลึกไปว่าเกี่ยวข้องแค่ไหนอย่างไร พร้อมยืนยันว่าพยานรายดังกล่าว ไม่ได้เป็นผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่างไรก็ดี จากหมายเรียกพยานเบื้องต้น 7 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป จะมีการทยอยเข้ามาให้ปากคำของ 6 พยานที่เหลือตามวันเวลาที่กำหนด พร้อมย้ำว่าพนักงานสอบสวนยืนยันให้ความเป็นธรรมกับพยาน เพราะพนักงานสอบสวนก็ต้องดูว่าในสิ่งประเด็นที่สงสัยนั้น พยานสามารถตอบคำถามได้หรือไม่
นายระวี กล่าวอีกว่า สำหรับพยาน 7 ราย ที่เรียกมาให้ปากคำนั้น ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีลักษณะคล้ายกัน ส่วนว่าคนเหล่านี้ประกอบอาชีพอะไรนั้น ตนขอไม่ระบุ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของพยาน แต่ถ้ามีเรื่องเส้นทางการเงินก็ต้องตอบ
เมื่อถามว่าทั้ง 7 พยาน ส่วนใหญ่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีฮั้ว สว. ด้วย ซึ่งรับผิดชอบโดยคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน (7 อรหันต์) เหมือนเป็นการสอดคล้องหรือไม่ที่ถูกแจ้งข้อหาฮั้ว สว. แล้วจึงถูกตรวจสอบเรื่องฟอกเงินด้วยนั้น นายระวี ระบุว่า พยานหลักฐานลักษณะคล้าย ๆ กัน เพราะพยานหลักฐานที่ กกต. มีก็ตรงกับที่ดีเอสไอมี แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายคนละฉบับ เราก็ต้องเรียกเขามาชี้แจงและให้ความเป็นธรรมเต็มที่ พนักงานสอบสวนรับฟังหมด ส่วนคณะอนุกรรมการฯ จะว่าอย่างไรก็เป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฯ แต่ชั้นนี้คือการสอบสวน เราก็ต้องให้ความเป็นธรรม
นายระวี ระบุอีกว่า ในส่วนของ น.ส.สินิตา มีการอธิบายและตอบตามรายการเดินบัญชี (Statement) ว่าเงินที่พนักงานสอบสวนเกิดจากอะไร ซึ่งเราก็บันทึกถ้อยคำให้การตามที่เขาตอบ ทั้งนี้ น.ส.สินิตา ให้การปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการจัดฮั้ว สว. ด้วยระบุว่า เป็นเงินค่าใช้จ่ายตามปกติ ส่วนกรณีที่มีอัยการมาร่วมสอบสวนด้วยนั้น เนื่องจากอัยการสูงสุดมอบหมายมาเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมายของดีเอสไอ ซึ่งจะร่วมสอบสวนทั้งพยานและผู้ต้องหา
เมื่อถามว่าปัจจุบันนี้พนักงานสอบสวนพบนักการเมือง หรือข้าราชการฝ่ายการเมืองมาเกี่ยวพันในเส้นทางการเงินหรือไม่ เนื่องจากทาง กกต. ได้มีการออกหนังสือเชิญบางส่วนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีฮั้ว สว. บ้างแล้วนั้น นายระวี ระบุว่า ยังเป็นเรื่องในสำนวน พนักงานสอบสวนต้องขอเวลาในการตรวจสอบ และเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน ส่วนกรอบระยะเวลาการทำสำนวนอั้งยี่-ฟอกเงินของดีเอสไอนั้น เราไม่ได้มีกรอบระยะเวลา แต่ดีเอสไอจะเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องสอดรับกับที่ กกต. ดำเนินการอยู่ด้วย.