รฟท.อัปเดตทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ คืบหน้า36%
'การรถไฟฯ' เร่งเครื่องรถไฟทางคู่สายเหนือ 'เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ' คืบหน้า 36% เปิดประตูการค้าภาคเหนือ หนุนเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาคและส่งเสริมการท่องเที่ยว โชว์แผนรับมือน้ำท่วมเชิงรุก ตั้งเป้าเปิดให้บริการปี 2571
14 ก.ค.2568 - แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทางรวม 323.10 กิโลเมตร(กม.) มูลค่าโครงการ 85,345 ล้านบาท ภาพรวมโครงการอยู่ที่ 36.473% เร็วกว่าแผน 1.868%ในส่วนของการส่งมอบพื้นที่เวนคืนคืบหน้า 98.5% โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จากประชาชนได้รับการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว คงเหลือเพียงบางส่วนที่ยังอยู่ในกระบวนการเร่งรัดกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยภาพรวมของโครงการยังคงตั้งเป้าเปิดให้บริการตามกำหนดภายในปี 2571
สำหรับความคืบหน้าของสัญญาการก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา พบว่าทุกสัญญาเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กิโลเมตร วงเงิน 26,560 ล้านบาท มีผลงาน 34.612% เร็วกว่าแผน 0.587% สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 26,890 ล้านบาท มีผลงานโดดเด่นถึง 41.527% เร็วกว่าแผน 2.485% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กิโลเมตร วงเงิน 19,385 ล้านบาท มีผลงาน 32.766% ซึ่งเร็วกว่าแผน 2.766%
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้เจอกับความท้าทายจากสภาพภูมิประเทศ เนื่องจากเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ตั้งอยู่ในพื้นที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ซึ่งมักเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมสูงเกินความจุและเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำบางจุดบนเส้นทาง รฟท. ได้เตรียมแผนรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ด้วยการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
โดยได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักเพื่อรับมือสถานการณ์ ได้แก่ กลุ่มที่ 1.แก้ปัญหาเฉพาะหน้า สำหรับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทันทีเมื่อได้รับแจ้งเหตุ กลุ่มที่ 2.เก็บรายละเอียดเพื่อปรับแบบ เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงแบบแผนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ กลุ่มที่ 3.พยากรณ์ เพื่อประเมินและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมสำหรับการก่อสร้างในช่วงหน้าแล้ง และมีความคาดการณ์ว่าผลกระทบจากน้ำท่วมในปีหน้าจะลดลง เนื่องจากโครงสร้างส่วนใหญ่จะเป็นสะพานยกระดับหรือรถไฟจะวิ่งอยู่บนโครงสร้างยกระดับ
ทั้งนี้ เมื่อโครงการรถไฟทางคู่สายนี้แล้วเสร็จ จะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญที่ช่วยยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ และเพิ่มช่องทางในการส่งออกสินค้าจากไทย ซึ่งจะสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้าการลงทุนของประเทศในภาพรวม โดยเส้นทางรถไฟสายนี้ยังโดดเด่นด้วยทัศนียภาพทางธรรมชาติที่งดงามตลอดเส้นทาง รถไฟจะแล่นผ่านเทือกเขา สลับกับสะพานและอุโมงค์ ซึ่งจะสร้างความประทับใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมและสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ อันจะนำมาซึ่งรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางพาดผ่าน และยังช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน