TMAC ประณามเหตุทุ่นระเบิด เรียกร้องกัมพูชารับผิดชอบ-สอบสวน
วันที่ 20 ก.ค.2568 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ลอบวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2568 ทำให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 3 นาย โดยหนึ่งในนั้นถึงขั้นพิการถาวร
TMAC ได้ส่งแถลงการณ์ดังกล่าวเพื่อแจ้งข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับ 10 หน่วยงาน/องค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ได้แก่ เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย, เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย, เอกอัครราชทูตอาเซอร์ไบจานประจำประเทศไทย, โครงการวิจัยและพัฒนาการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (The Humanitarian Demining Research and Development: HD R&D), กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก (U.S. Marine Corps Forces, Pacific: MARFORPAC),
ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมแห่งนครเจนีวา (The Geneva International Center for Humanitarian Demining: GICHD), คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (Joint United States Military Advisory Group Thailand: JUSMAG THAI), มูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมโกลเด้นเวสท์ (Golden West Humanitarian Foundation: GWHF), ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Mine Action Center: ARMAC) และ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา โดยแถลงการณ์ของ TMAC มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
ประณามการลอบวางทุ่นระเบิด: TMAC แสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าเป็นการลักลอบวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ภายในเขตแดนของประเทศไทย ซึ่งทุ่นระเบิดที่พบเป็นแบบใหม่ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคลังแสงของกองทัพไทย และมีเจตนาชัดเจนเพื่อสร้างอันตรายต่อกำลังพล เจ้าหน้าที่ รวมถึงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
ประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง และชี้ว่าเป็นการละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ การเก็บสะสม การผลิต และการถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลฯ (อนุสัญญาออตตาวา) ซึ่งทั้งประเทศไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคีสมาชิกและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างครบถ้วน
เรียกร้องให้ราชอาณาจักรกัมพูชาแสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ด้วยการดำเนินการสอบสวนอย่างครอบคลุม ใช้มาตรการทางกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้อง และดำเนินมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต
เรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาหยุดการขัดขวางปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทยตามแนวชายแดน และให้ความร่วมมืออย่างจริงใจในการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมเพื่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิด โดยเน้นย้ำว่าความร่วมมือนี้มีความสำคัญต่อการส่งเสริมความไว้วางใจ ความปลอดภัย และเสถียรภาพของประชาชนทั้งสองประเทศ
แถลงการณ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อแจ้งต่อสาธารณชนและองค์กรพันธมิตร เพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการร่วมกันเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคต่อไป