โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การทำธุรกิจแบบมวยวัดของ ‘อาทิตย์ละเล่ม Bookshop’ ที่จัดหนังสือตามความชอบของคนอ่าน

Capital

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Insight

“ผมเริ่มต้นความฝันมาเปิดร้านหนังสือ จากการเป็นมวยวัดที่ต่อยสะเปะสะปะ แต่ทุกครั้งที่ผมต่อย ผมมองว่าผมจะต้องเป็นแชมป์ และผมอยากจะเป็นแชมป์โลกมวยวัดที่ไปต่อยบนเวทีสากลกับคนอื่นได้”

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักอ่านตัวยง คนที่เพิ่งเข้าวงการหนังสือ หรือแม้แต่คนที่ไม่คิดจะหยิบจับหนังสือมาเปิดอ่านสักหน้า เชื่อว่าน่าจะเห็นผู้ชายคนนี้ในฐานะคนที่ทำคลิปป้ายยาหนังสือจนเป็นไวรัลหลายๆ คลิป

ยิ่งถ้าใครได้ไปงานมหกรรมหนังสือเดือนตุลาคมปี 2567 และงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุดที่จัดตอนสิ้นเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็จะเห็นภาพเขายืนป้ายยาหนังสือ จนมีนักอ่านต่อแถวกันยาวเหยียด อยู่หน้าบูทที่ชื่อว่า ‘อาทิตย์ละเล่ม Bookshop

ชายที่เราพูดถึงคือ อาทิตย์ ธรรมชาติ ผู้ก่อตั้งร้านอาทิตย์ละเล่ม Bookshop และเจ้าของช่อง ARTHIT Time ผู้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำในวัย 40 ปีมาทำธุรกิจร้านหนังสือเป็นของตัวเอง

ความโดดเด่นของอาทิตย์ละเล่ม Bookshop คือการ custom made by order จัดหนังสือตามความชอบของผู้อ่าน เพียงแค่บอกความต้องการ ยกตัวอย่างหนังสือที่เคยอ่านแล้วชอบ หนังที่เคยชม การ์ตูนที่เคยดู อาทิตย์และเหล่าบุ๊กเชฟก็พร้อมจะจัดเซตหนังสือแบบโอมากาเสะให้กับคุณ

แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าจะมองมุมไหน ร้านหนังสือก็ดูเป็นธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งค่า GP หรือค่าคอมมิชชั่นจากการขายหนังสือที่ไม่ได้มีมากนัก และยิ่งโดนบีบหนักในวันที่หลายร้านหันมาทำสงครามราคา ขายให้ถูกที่สุดเพื่อแย่งลูกค้า

ยิ่งเสี่ยงหนักถ้าวันใดวันหนึ่งสำนักพิมพ์ออกมาขายหนังสือเอง แล้วตั้งเกณฑ์ราคาที่พ่อค้าคนกลางสู้ไม่ไหว เราอาจเห็นร้านหนังสือหลายร้านปิดตัวลงไปก็เป็นได้

ด้วยความน่าสนใจของอาทิตย์ละเล่ม Bookshop ประกอบกับความเสี่ยงของธุรกิจนี้ที่มีมากมาย ทำให้เราอยากพูดคุยกับอาทิตย์ถึงเบื้องหลังการทำธุรกิจที่เขาบอกว่าเป็นการทำแบบมวยวัด แต่ต่อยหมัดเข้าคางคู่ต่อสู้จนชนะน็อกมาได้ และถึงแม้การทำธุรกิจของเขาจะเสี่ยง แต่ก็ยอมเสี่ยงบนความเจ็บที่รับได้

ถ้าพร้อมแล้วเตรียมโดนป้ายยาหนังสือไปพร้อมๆ กับการส่องหัวจิตหัวใจของคนทำร้านหนังสือกันผ่านคอลัมน์ Play Risk ในครั้งนี้กันได้เลย

อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจในวัย 40 ปี

เมื่อก่อนผมทำงานในบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความมั่นคง มีความอยู่ตัวทุกอย่างเลย แต่จุดเปลี่ยนแรกคือพอมานั่งมองแล้วมันก็เอ๊ะในใจ ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่มันใช่หรือไม่ใช่กันแน่

จุดเปลี่ยนที่สองคือผมรู้สึกว่าตัวเองอยู่ตรงกลาง คือทำงานระดับ management ที่มองขึ้นไปข้างบนจะมี CEO หรือมีผู้บริหารระดับสูงกว่าที่เขามีความต้องการแบบหนึ่ง แล้วเราตามเขาไม่ทัน ในขณะเดียวกันพอมองลงมาถึงระดับปฏิบัติการหรือลูกน้องที่มาทีหลังเรา คนที่เราต้องคอยดูแลเขา เราก็รู้สึกเก่งสู้เขาไม่ได้ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่เขามาพร้อมกับความรู้ทางเทคโนโลยี แล้วพอผมอยู่ตรงกลางบางทีก็บริหารความกดดันได้ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่สามารถกำหนด direction หรือชี้แนะได้อย่างทันท่วงที มันก็เลยยึกๆ ยักๆ อยู่แบบนั้น

ผมเลยได้คำตอบว่ามันไม่น่าจะใช่จุดที่ผมอยู่ไปจนถึงวันเกษียณแน่ๆ ผมไม่ต้องการอยู่ในองค์กรแล้วคนรุ่นใหม่มองมารู้สึกว่า โอ้โห ไม่เห็นมีประโยชน์เลย แค่มาก่อน แค่แก่กว่าเท่านั้นเอง ถึงอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าได้ ในขณะเดียวกันผมก็คิดว่ามันนิ่งเกินไป เกินกว่าที่เราจะใช้คำว่าเราสนุกกับการทำงาน

ผมเลยทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างการเปิดช่อง TikTok แนะนำหนังสือ ลองใช้เครื่องไม้เครื่องมือในแบบที่เป็นตัวเราเองมากที่สุด โดยที่ไม่ต้องมีเทคนิคอะไรมากมาย มันก็สนุกดี ผมก็ทำสม่ำเสมอ วันดีคืนดีก็ไปถึงจุดที่มีคนอยากลองซื้อหนังสือกับเรา

ผมเลยทำร้านหนังสือออนไลน์เล่นๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้คนมาสั่งซื้อหนังสือหลังไมค์กับเรา ก็มีคนตอบรับประมาณหนึ่งเลย ผมคิดว่าน่าจะลองมาทำแบบจริงจังดู ถ้าถามว่าเสี่ยงไหม ผมตอบเลยว่าเสี่ยง แต่ผมคำนวณแล้วว่ามีรายได้จากการทำช่องประมาณหนึ่ง มีรายได้จากร้านหนังสือออนไลน์ก๊อกแก๊กๆ อยู่ประมาณนี้นะ อาจจะยังไม่เยอะมาก แต่พอมีทั้ง 2 อันประกอบกัน ผมคิดว่าถ้าเจ๊ง ยังไงผมก็ไม่ตาย เจ็บก็เจ็บ ล้มก็ล้ม ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ทำมันจะคาใจอยู่แบบนั้น

ที่มาที่ไปของชื่อร้านอาทิตย์ละเล่ม Bookshop มาจากไหน

ผมมักจะชวนผู้คนอ่านหนังสืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 เล่มเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะผมเชื่อว่ามันเป็นค่าเฉลี่ยที่คนทั่วไปจะอ่านหนังสือประมาณ 200-300 หน้าจบในระยะเวลาที่ไม่เดือดร้อนหรือลำบากมากนักก็คือ 1 สัปดาห์ เพราะทุกคนมีงานต้องทำหรือต้องเรียนหนังสือ ซึ่งผมทดสอบจากตัวเอง ก่อนนอนจะอ่านหนังสืออย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก็จะได้ 30-50 หน้า เพราะฉะนั้น 1 สัปดาห์ก็จะได้ประมาณนั้นแหละ 200-300 หน้า

ช่องที่ผมทำตอนแรกก็ใช้ชื่อว่าอาทิตย์ละเล่ม ผมชอบชื่อนี้นะ เพราะผสมทั้งชื่อเรา ผสมทั้งสิ่งที่หมายถึงช่วงเวลา 1 สัปดาห์ แล้วเราอามาทำเป็น weekly challenge ชวนคนอ่านหนังสือด้วย พอถึงเวลาอยากจะทำเป็นร้านหนังสือ ก็มีแค่ชื่อเดียวที่อยู่ในใจและอยากจะเอามาใช้

แต่ถ้าย้อนเวลาไปอีก มันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของผมที่คุณพ่อมักจะบังคับผมอ่านหนังสืออาทิตย์ละ 1 เล่มอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก แล้วเอามาเล่าให้เขาฟัง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเขาบังคับ แต่พอวันเวลาผ่านไปก็โชคดีที่เราเจอเรื่องที่เราชอบ นึกภาพง่ายๆ ว่าถ้าเล่มที่เขาอยากให้เราอ่าน เราไม่ชอบก็คงจะทำให้เราไม่ชอบการอ่านอย่างในทุกวันนี้ มันผสมกันหลายๆ อย่างก็เลยเป็นชื่ออาทิตย์ละเล่ม

ถ้าให้คำนิยามของร้านอาทิตย์ละเล่ม Bookshop อยากนิยามว่าเป็นร้านหนังสือสไตล์ไหน

ผมว่าร้านนี้เป็นเหมือนเพื่อน ต้องบอกก่อนว่าในตลาดหนังสือคนอ่านมีทางเลือกมากมายมหาศาล แค่เขาเสิร์ชชื่อหนังสือ 1 เล่ม เขาก็จะเจอตัวเลือกที่ตรงกับสิ่งที่เขากำลังมองหา บางร้านอาจจะโดดเด่นเรื่องราคาที่ถูกกว่า บางร้านอาจโดดเด่นเรื่องของแถมหรือสิทธิพิเศษของสมาชิก

ผมเชื่อว่าอาทิตย์ละเล่มไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ เมื่อวางอยู่ร่วมกับร้านหนังสืออื่นๆ แต่การที่ผมบอกว่าร้านเราเป็นเหมือนเพื่อน เพราะเรามีการ custom made by order ผมมั่นใจว่าหนังสือทุกเล่มที่อยู่ในร้านผมแนะนำได้ ผมมีทีมบุ๊กเชฟที่ custom หนังสือเพียงแค่คุณบอกรสนิยมหรือแนวทางที่คุณสนใจ เราก็น่าจะพอจัดหนังสือที่ตรงกับรสนิยมของคุณได้นะ

แม้กระทั่งว่าวันนี้คุณไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อนเลยหรืออ่านน้อยมาก อยากจะวนกลับมาอ่านอีกครั้ง แค่คุณยกตัวอย่างซีรีส์ ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือความบันเทิงอะไรก็ตามที่คุณเคยเสพ เราก็จะพยายามทำการบ้านประกอบนั่นประกอบนี่ มาไว้เลือกหนังสือที่คิดว่าคุณจะชอบ

ผมใช้จุดนี้เป็นจุดสำคัญเพื่อสื่อสารกับคนอ่านว่าถ้าวันนี้คุณนึกไม่ออกว่าจะอ่านเรื่องอะไร หรือถ้าคุณต้องการคนคุยด้วยเกี่ยวกับเรื่องหนังสือ เราทำหน้าที่นั้นให้คุณได้นะ

คุณได้ไอเดียในการทำจัดหนังสือ custom made by order แบบโอมากาเสะมาจากไหน

วันหนึ่งมีน้องคนหนึ่งเขาอยากสนับสนุนร้านของผม แต่เขาอ่านหนังสือมาเยอะประมาณหนึ่งแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะสนับสนุนอะไรในร้านเราดี เขาก็เลยบอกผมว่าพี่อาทิตย์ หนูมีงบ 1,000 บาท แล้วแต่พี่จะจัดหนังสือมาให้เลย ผมรู้สึกว่ามันน่าสนุกดี แล้วก็ตั้งกล้องถ่ายตอนจัดหนังสือให้น้องเขา เอาคลิปนี้ไปลงในช่อง คนดูก็สนใจ แล้วหลังไมค์มาให้เราจัดหนังสือให้อีก ตอนนั้นผมยังมองไม่เห็นโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดจากสิ่งนี้

จนวันหนึ่งมีน้องอีกคนทัก inbox เข้ามา เขียนมายาวมาก เขาบอกว่าขอบคุณมากเลยที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มต้นอ่านหนังสือ หนังสือที่พี่แนะนำบางเล่มมันช่วยให้เขาผ่านช่วงระยะเวลาเลวร้ายได้ หนูก็อยากให้พี่จัดหนังสือให้เหมือนกัน แต่หนูยังเรียนหนังสืออยู่ ขอแค่เล่มเดียวได้ไหม เดี๋ยวโอนไปให้ 300 บาท ผมรู้สึกดีใจมากที่คนอ่านให้โอกาสเราได้ทำสิ่งนี้

การ custom made by order หรือที่เราเรียกสิ่งนี้ว่าโอมากาเสะ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งที่สุดของร้านเรา เมื่อก่อนเราจัดหนังสือ 4 เล่ม 1,000 ตอนนี้มันเป็น 4 เล่ม 1,200 บาท แล้วก็จากเมื่อก่อนที่น้องเขาโอนมา 300 ตอนนี้ก็ขอขยับขึ้นนิดหน่อยเพื่อให้ร้านอยู่ได้ กลายเป็น 1 เล่ม 350 บาท

วิธีจัดหนังสือของเราก็คือจะให้คนอ่านบอกสิ่งที่เขาต้องการให้เรา เช่น ต้องการหนังสือที่อ่านจบแล้วซึมเป็นส้วม อาจจะเป็นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ เรื่องครอบครัว เรื่องสัตว์เลี้ยง ยิ่งถ้าโจทย์ของคุณชัด เราก็มีโอกาสที่จะหยิบหนังสือที่ตรงกับโจทย์ได้แม่นยำ และถ้าถามว่าการหยิบหนังสือเหล่านั้นมาจากไหน ก็มาจากประสบการณ์การอ่านของพวกเรา

แน่นอนแหละว่าเราไม่ได้อ่านหนังสือทุกเล่มในโลกหรอก แต่เรามีน้องๆ บุ๊กเชฟอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ต่างคนต่างอ่านตามความนิยมของตัวเอง และมีหลายครั้งเลยที่ต่อให้คุณอยากให้ผมหยิบหนังสือให้ตามโจทย์ ผมก็จะหันไปปรึกษาบุ๊กเชฟคนอื่นเหมือนกัน

แต่โดยธรรมชาติแล้วการอ่านหนังสือก็เป็นเรื่องรสนิยมหรือเรื่องตามความชอบ ก็มีโอกาสที่จะหยิบผิดพลาดไม่ตรงกับสิ่งที่เขากำลังมองหาได้ บางทีอาจจะเกิดจากโจทย์ที่ไม่ชัดเจนพอ บางทีอาจจะเกิดจากประสบการณ์ของบุ๊กเชฟที่ไม่เพียงพอ บางทีอาจจะเกิดจากว่าหนังสือในร้านไม่ได้มีสิ่งนั้น แต่คุณบอกเราได้นะ เราขอโอกาสแก้ตัวแล้วเลือกเล่มใหม่ให้คุณอีกครั้ง แต่ถ้าผลิตภัณฑ์โอมากาเสะไม่เหมาะกับคุณจริงๆ เราก็มีผลิตภัณฑ์อื่นด้วย หรือแค่มาพูดคุยกันแล้วซื้อหนังสือปกติก็ได้

ผลิตภัณฑ์อื่นนอกจากโอมากาเสะที่คุณพูดถึงคืออะไร และมีหน้าตาเป็นยังไง

ในงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุดเราเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่าเบนโตะ เราจัด category ของหนังสือให้หลากหลายและรวมที่สุดของหนังสือในกลุ่มนั้นที่เขากำลังมองหาไว้ด้วยกัน เช่น ถ้าน้องๆ อยากอ่านงานสืบสวนมือใหม่ เราก็รวมงานสืบสวนมือใหม่ที่ดีที่สุดจำนวน 9 เล่ม มา custom ใส่กล่องให้คุณ 3 เล่ม

แต่พูดตรงๆ ว่าหลังจากลองขายมาทั้งในงานหนังสือขนาดใหญ่และงานเล็กๆ อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราต้องกลับไปทำการบ้านอีกเยอะเลย เพราะเมื่อเทียบกับโอมากาเสะก็ยังอยู่ในระดับที่กระแสตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ มีจุดอ่อนพอสมควร มีทั้งกลุ่มคนที่อ่านบางเล่มในเซตนั้นมาแล้วกลัวซ้ำ มีทั้งกลุ่มคนที่อยากได้ custom แบบพูดคุยกันมากกว่าแบบที่จัดเซตมาแล้ว

หลังจากนี้เราอาจจะเจอวิธีการขายเบนโตะที่เหมาะสมมากขึ้น หรือถ้าวันหนึ่งผลิตภัณฑ์นี้ไม่ใช่ เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยน

ย้อนกลับไป หนังสือเล่มแรกที่คุณนำมาขายคือเรื่องอะไร และในช่วงนั้นคุณเริ่มขายหนังสือยังไง

หนังสือเล่มแรกที่ผมขายคือกาสักอังก์ฆาต ซึ่งผมเห็นหน้าหนังของเขา เห็นความสนุกของเขา แต่แปลกใจว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงไม่ฮิต ตอนแรกที่วางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในเดือนมีนาคม 2567 ก็ขายได้ประมาณหนึ่ง

แต่ผมรู้สึกว่ามันน่าจะไปได้ไกลกว่านี้เลยเอามารีวิวในช่อง ซึ่งเราก็สะสมคนที่มีรสนิยมเดียวกันเอาไว้กลุ่มหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าเวลาเราอ่านหนังสือด้วยกันกับแก๊งที่เขาเรียกกันว่าชาวหนอนหนังสือ เขาก็จะรู้สึกว่าสนุกจัง ตรงกับรสนิยมเขาจัง พอรีวิวไปรีวิวมาคนมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้พี่อาทิตย์ติดตะกร้าในคลิป TikTok หลังจากฟังรีวิวเขาจะได้ซื้อได้

เราทำมาสักระยะ จนรู้ว่าถ้าติดตะกร้าปุ๊บ แพลตฟอร์มพวกนี้ไม่ชอบ เขาต้องการให้เรา boost post หรือต้องการให้เราทำอะไรที่เสียเงินให้เขาบ้างซึ่งผมก็แบบขี้เหนียว ไม่ค่อยอยากทำอะไรยุ่งขนาดนั้น เลยเอาเป็นว่าถ้าเกิดคุณชอบหนังสือที่ผมรีวิวแล้วอยากซื้อ คุณทักหลังไมค์ผมมาได้ไหม

ผมรู้จักกับผู้เขียนกาสักอังก์ฆาตและเจ้าของสำนักพิมพ์อยู่แล้ว ก็บอกเขาว่าขอเอามาขายด้วยได้ไหม ปรากฏว่าลงขายเสร็จก็มีคนทักมาสั่งซื้อเลย แล้วก็หมด 20 เล่มแรกทันที ก็เลยลองขยายเป็น 40 เล่ม เป็น 60 เล่ม จนเขามาส่งไม่ทัน ผมต้องขับรถไปขนเองถึงโรงงานเป็นร้อยเล่มก็ขายหมด

ตอนนั้นเรายังไม่ชัวร์ขนาดที่ว่าอันนี้เป็นธุรกิจได้นะ คิดแค่ว่าถ้าเป็นหนังสือที่คนอาจจะหาช่องทางในการซื้อยากสักหน่อย ไม่ได้อยู่ตามร้านเชลฟ์สโตร์หรือว่าช่องทางที่เขาซื้อตามปกติ การที่เขาดูรีวิวจากเรา แล้วเขาซื้อจากเราได้เลย น่าจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ช่องเรามีรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากสปอนเซอร์ได้ ในช่วงแรกก็เลยขายออนไลน์แบบนี้

ทุกวันนี้ร้านคุณมีหนังสือแนวไหนบ้าง และมีวิธีการเลือกหนังสือที่จะมาขายในร้านยังไง

ผมเลือกตามรสนิยมของตัวเอง เป็นหนังสือที่ผมอ่านและเป็นหนังสือที่ผมคิดว่าจะอ่าน รวมถึงเป็นหนังสือที่น้องๆ บุ๊กเชฟอ่านด้วย เพราะพอเป็นหนังสือที่เราอ่าน เราสามารถแนะนำได้ว่าเล่มนี้ตรงกับสิ่งที่เขากำลังมองหา

อีกกลุ่มหนึ่งคือหนังสือที่ผมคิดว่าจะอ่าน เมื่อเราทำการบ้านจากหน้าปกและเรื่องย่อ เรายังไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี จบแบบอิมแพกต์หรือไม่อิมแพกต์ เรารู้แค่ว่าตัวเราอยากอ่าน เพราะฉะนั้นเราก็ชวนเขาอ่านไปพร้อมกัน นี่เป็นวิธีคัดสรรหนังสือเข้าร้านของผม

ส่วนใหญ่จะเป็นงานกลุ่มวรรณกรรมหรือเรื่องแต่ง เป็นรสนิยมความชอบของพวกเรา ซึ่งไม่ได้บอกว่ามันดีกว่างานประเภทอื่นนะ เพียงแต่เราชอบอ่านงานที่ให้อารมณ์เหมือนกำลังแกะกล่องที่ถูกห่อด้วยกระดาษเลเยอร์ต่างๆ เราไม่รู้เลยว่าเมื่อเราแกะชั้นนั้นชั้นนี้ของกระดาษออกไปแล้ว เราจะเจออะไรที่แอบซ่อนอยู่ในกล่อง คน 10 คนอ่านหนังสือเล่มเดียวกันอาจจะถอดออกมาแล้วเห็นไม่เหมือนกันก็ได้ หรืออาจจะเบื่อกลางทาง แล้วแกะไปแค่เลเยอร์ที่ 3 แล้ววางทิ้งไว้ก็ได้ เพราะว่าวรรณกรรมมันทำงานกับอารมณ์คนแบบนั้น

แต่ในขณะเดียวกัน งานกลุ่ม non-fiction สำหรับผมมันเป็นเหมือนเครื่องมือ วันนี้เราอยากรู้เรื่องอะไร เราก็จะได้อ่านเรื่องราวแบบนั้น เราอยากจะเป็นคนที่ productive มากขึ้น เราก็ซื้อหนังสือเกี่ยวกับ productive เราอยากจะเป็นคนที่รักตัวเองมากขึ้น เราก็ซื้อหนังสือเกี่ยวกับการรักตัวเอง มันเหมือนเครื่องมือที่เราเอามาแก้ บางสิ่งบางอย่างที่ตัวเรากำลังมองหา ถ้าถามว่ามันดีไหม มันดีแน่นอน

เพียงแต่ว่ารสนิยมเรา เราเป็นคนค่อยๆ มอง ค่อยๆ เห็น ค่อยๆ พาสิ่งต่างๆ เข้ามาจนเจอว่าหนังสือเล่มนี้มันทำงานทางอารมณ์กับเราจัง เราได้ประเด็นนี้โดยที่เราไม่ได้รู้ตัว เรารู้สึกกับตัวละครนี้โดยที่เราไม่ได้ทำการบ้านหรือเตรียมตัวมาก่อนว่าเราจะรู้สึกกับตัวละครแบบนี้ นี่คือศักยภาพของเรื่องแต่งที่ผมมองหา และในร้านของผม 95% เป็นหนังสือกลุ่มนี้

จากตอนแรกที่ขายออนไลน์มาสู่การออกบูทในงานอีเวนต์ต่างๆ ได้ยังไง

ผมคิดว่าเราไม่ควรแค่ออกจากงานประจำมาทำช่อง ออกมาทำร้านของตัวเอง แล้วก็ปล่อยให้มันไหลไปแล้วแต่อารมณ์ ผมเริ่มเปิดบริษัทจริงจังในเดือนสิงหาคม หมุดหมายที่ใกล้ที่สุดก็คืองานมหกรรมหนังสือเดือนตุลาคม เพราะผมเป็นคนที่ยืนป้ายยาหนังสือมา 20 ปีแล้ว ไม่ว่าผมจะอยู่ในบริบทไหน เราจะเป็นเด็กพาร์ตไทม์กินค่าแรงชั่วโมงละ 25 บาท หรือตอนที่เป็น บ.ก.อยู่บันลือบุ๊คส์เมื่อก่อน เราก็ยังชอบการไปยืนขายหนังสืออยู่ดี

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการเปิดบริษัทแบบนี้ เราก็อยากลองเอาประสบการณ์ที่ไปยืนขายแบบนั้นมาลองทำเองดู โดยที่ไม่รู้เลยว่าค่าบูทเท่าไหร่ ต้องเป็นสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก่อนหรือเปล่า ต้องมีระบบจัดการหนังสือยังไง เพราะที่ผ่านมาเราก็แค่ทำตามที่คนอื่นบอกให้ทำ กับสั่งให้คนอื่นไปทำอย่างที่ควรจะทำ แต่ไม่เคยทำเองทั้งหมดแบบนี้

ตอนนั้นเผอิญเจอกับน้องคนหนึ่งที่ปัจจุบันเขามาทำงานเป็นผู้จัดการของบริษัทผมนี่แหละ น้องเขาก็บอกว่าพี่ยังไปงานใหญ่ขนาดนั้นไม่ได้นะ เพราะถ้าเราไปแบบไม่รู้อะไรเลยน่าจะเจ๊งมากกว่า เราก็เลยไปลองทดสอบด้วยการหาอีเวนต์ขนาดเล็ก ที่จะทำให้เรารู้ระบบการจัดการในการออกบูท รู้วิธีการบริหารสต็อก รู้การโปรโมต ประชาสัมพันธ์ การเตรียมตัว การขาย การทำโปรโมชั่นต่างๆ

เราไปเจองานที่ชื่อว่า Metro Art Book fair ค่าเช่าบูทประมาณ 2,000 กว่าบาท งานจัด 10 กว่าวัน เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งไม่ถึง 200 บาท คิดว่าเงินแค่นี้ก็ไม่น่าจะเจ็บตัวหนัก ไม่น่าจะเจ๊งหรอก ถ้าคิดแบบแย่ที่สุดก็คือไม่มีลูกค้า ซึ่งเท่าที่ผมประเมินไม่น่าจะมีลูกค้าด้วย เพราะว่าเราเคยเดินผ่านสถานที่นี้แล้ว มันเป็นการตั้งบูทอยู่กลางทางเดิน MRT ที่คนผ่านไปผ่านมาเขาก็ไม่ได้สนใจอะไร

ตอนนั้นคิดแค่ว่าเราเปิดบริษัทใหม่ ไม่มีออฟฟิศ ถ้าจ่ายค่าเช่าไม่เกินวันละ 200 บาท มานั่งทำงานใจกลางกรุงเทพมหานครกันสองคนก็คุ้มนะ ถ้าไม่มีคนซื้อหนังสือก็ไม่เป็นไร แต่ปรากฏว่าเราโชคดีกว่านั้น พอโปรโมตออนไลน์ไปคนที่เขาติดตามเราก็มาให้กำลังใจ มาแสดงตัวตนให้รู้ว่าเขาสนับสนุนเราอยู่นะ เราก็เลยได้เงินทุนมาจำนวนหนึ่งจากการออกบูทในครั้งนั้น แล้วก็ได้รู้ว่าการออกบูทเขาทำงานกันยังไง

คุณหยิบประสบการณ์นั้นมาปรับใช้กับการออกบูทในงานมหกรรมหนังสือยังไง

เวลาคนอยากให้ผมเล่าถึงบทเรียนหรือสิ่งที่ตัวเองใช้เริ่มต้นในการทำธุรกิจ อย่างการไปออกบูทที่งานมหกรรมหนังสือ ผมก็จะเขิน เพราะเวลาเราพูดถึงความเก่งของคน เวลาเราพูดถึงสิ่งที่ประสบความสำเร็จ เราจะพูดได้ว่าเขาเก่งหรือมีความสามารถก็ต่อเมื่อเขาจัดการวางแผนมาอย่างเป็นระบบ ระเบียบ และมีที่มาที่ไป แต่ของผมมันมั่ว มันมีแต่ความพยายาม มีแต่ความอยากที่จะไปถึงเป้าหมาย โดยที่ไม่รู้ว่าจะไปถึงได้ยังไง

ยังดีที่การออกบูทครั้งแรกทำให้เรามีเงินทุน และมีประสบการณ์มาติดต่อประสานงานกับคู่ค้าที่ใหญ่ แล้วก็มีแต่คนหาว่าเราบ้า เพราะว่าเราใช้พื้นที่ในงานหนังสือถึง 2 บูท แต่ผมมองว่าอาวุธหลักของผมคือองค์ความรู้ ผมไม่สามารถป้ายยาคนบนพื้นที่แค่ 1 บูทได้

เรามีหนังสือล้นบูทเลย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นความผิดตรงที่เราบริหารสต็อกไม่เป็น มีอุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้นระหว่างทาง เราไม่ได้เตรียมใจว่าจะเจอกับปัญหาพวกนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเรา มีสำนักพิมพ์บางแห่งอยู่ดีๆ ก็หยุดส่งหนังสือให้เรากลางงาน มีสินค้าหาย มีน้องๆ บุ๊กเชฟไม่ได้กินข้าว

ผมเองก็ป่วย เพราะยืนป้ายยาหนังสือจนขาแทบไม่รู้สึกอะไรแล้ว นอนตี 3 ตี 4 ตื่น 7 โมงเช้าทุกวัน งานครั้งนั้นผมไม่กล้าพูดว่ามันคือความเก่งหรือสิ่งที่จะมาแชร์อย่างภาคภูมิใจ เพราะว่ามันเต็มไปด้วยมวยวัด ที่ต่อยสะเปะสะปะไปหมด โชคดีที่ตอนนั้นดันต่อยเข้าคาง แล้วมันได้ผล มีคนที่ติดตามแล้วมาหาเราค่อนข้างเยอะ

การต่อยแบบมวดวัดในครั้งนั้นสอนบทเรียนอะไรให้กับคุณ

งานมหกรรมหนังสือครั้งนั้นผมเรียกว่ามันเป็นความฟลุก เพราะมีครั้งหนึ่งที่เพื่อนผมที่อยู่ในวงการหนังสือด้วยกันมากระซิบว่าเขาได้ยินคำพูดของคนคนหนึ่ง แต่ไม่กล้าบอกผมระหว่างงาน เพราะกลัวผมจะเสียใจ คนนั้นเขาบอกว่า ไอ้เนี่ยน่ะเหรอ มันฟลุก ครั้งหน้าเดี๋ยวเจอของจริงจะรู้ว่าเป็นยังไง ผมก็บอกว่าขอบคุณมากเลยที่ไม่บอกระหว่างงาน ไม่งั้นคงใจเสียแน่เลย

แต่พอมานั่งคิดทบทวนสิ่งที่คนนั้นพูด ผมก็คิดว่ามันใช่ มันมีความเป็นมวยวัดที่ต่อยมั่วๆ เต็มไปหมด ถึงแม้ตัวผมเองจะมีประสบการณ์ แต่พอถึงเวลาที่เข้าขั้นวิกฤต กลับเอามาใช้ไม่ได้ เพราะว่าเรามีงานหลายส่วนที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งลูกค้าที่อยู่หน้าร้าน คู่ค้าที่เราจะต้องดีลงาน การโปรโมต งานตึงมือมาก แต่ในขณะเดียวกันเรามีพาร์ตเนอร์อย่างผู้จัดการของบริษัทของผม น้องเขามีทักษะของคนรุ่นใหม่ที่เอามาเติมเต็มกัน

ถึงแม้ครั้งนี้มันจะฟลุก แต่เราเรียนรู้จากความฟลุก ความเป็นมวยวัด ความต่อยสะเปะสะปะพวกนี้ เอามาทำให้ครั้งถัดๆ ไปมันไม่มั่ว แล้วเรากลับพบว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นบนความไม่ตั้งใจ ก็คือความเป็นมวยวัดนี้ทำให้เราไม่ติดกรอบอะไรเลย เราสามารถแก้ปัญหาบางเรื่องได้ โดยที่ถ้าเป็นผมในเวอร์ชั่นที่ทำงานบริหารอยู่บริษัทขนาดใหญ่ก่อนหน้านี้ ผมจะไม่ตัดสินใจแบบนี้

แต่พอยืดหยุ่นแล้วเราไม่มีกรอบ เรารู้แต่ว่าเราต้องทำสิ่งนี้ให้ผ่านไปให้ได้ เราเลยตัดสินใจแบบนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น คู่ค้าบางเจ้าเขาตั้งเป้าว่าถ้าทำยอดถึงระดับหนึ่ง เราสามารถได้ GP หรือค่าคอมมิชชั่นเพิ่ม เขาจะให้ benefit เราเพิ่ม แต่ถึงเวลาจริงจากที่เราจะได้ GP ตามสัญญา กลายเป็นเครดิตในการซื้อครั้งถัดไป

ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในองค์กรที่มีรูปแบบการทำงานชัดเจนในแบบที่ผมเคยอยู่ ก็จะต้องเอาหลักฐานงัดมาสู้ว่าบริษัทเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้ มีอะไรบ้างที่ดำเนินการต่อได้ แต่พอมาทำธุรกิจของตัวเอง ผมพบว่าเราช่างมันได้ คือมันมีความเสียหายในความไม่ตรงไปตรงมา แล้วครั้งหน้าเราอย่าทำอะไรให้เกิดช่องโหว่แบบนี้อีก แล้วเราเอาเวลาไปทำงานกับคนที่เขามีรูปแบบการทำงานที่เป็นมืออาชีพมากกว่านี้ดีกว่า

หลังออกบูทที่งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด คุณยังคิดว่าเป็นความฟลุกอยู่ไหม

ผมคิดว่ามันเคยฟลุก แต่งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุดที่จัดตอนสิ้นเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน มันเต็มไปด้วยการนำสิ่งที่เคยผิดพลาดมาเป็นแกนหลักในการทำงาน ทุกวันนี้เราบริหารสต็อกได้ดีขึ้นมากๆ ครั้งที่แล้วในงานมหกรรมหนังสือ ของเรากองเหมือนภูเขา ถ้าสมมติตอนนั้นเกิดแผ่นดินไหวเหมือนที่เกิดตอนเดือนมีนาคม คนในบูทคงจะตาย เพราะว่ากองหนังสือล้มมาทับ แต่ครั้งที่ผ่านมามันไม่ใช่แบบนี้แล้ว

เราเคยมั่วจนน้องๆ ไม่ได้กินข้าว แต่ครั้งนี้น้องๆ ได้กินตรงตามเวลา เราเคยมั่วจนมีคนยืนออเต็มหน้าบูทเรา จนกีดขวางการจราจรของผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา แต่ครั้งนี้เรามีระบบบอกคิว บอกแถวที่ชัดเจน เราเก็บประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วมาทำงานอย่างเป็นแบบแผน เราวางแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเราจะไม่กลับไปต่อยมวยวัดมั่วแบบเดิม ถ้าในอนาคตมีครั้งไหนที่ต้องมั่วอีก ก็จะเป็นความมั่วที่เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าเดิม

คิดว่าความเสี่ยงในการทำร้านหนังสืออิสระคืออะไร และคุณมีวิธีการบริหารความเสี่ยงนั้นยังไง

ผมว่าต่อให้มองจากข้างนอกก็คงรู้อยู่แล้วว่าร้านหนังสือมีความเสี่ยงเยอะแน่ๆ แต่ถ้าพูดจากคนข้างในเอง positioning ของร้านอาทิตย์ละเล่ม Bookshop เราคือพ่อค้าคนกลางที่รับหนังสือมาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้วนำเสนอสื่อสารขายให้กับคนอ่าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่สุดสำหรับพ่อค้าคนกลางก็คือค่า GP เป็นค่าส่วนแบ่งหรือค่าคอมมิชชั่นที่สำนักพิมพ์จัดสรรมาให้เรา ถ้าเรารักษา GP เอาไว้ได้เยอะ หรือต่อรอง GP ได้เยอะ หมายความว่าเราก็จะได้กำไรเยอะด้วย

แต่แน่นอนว่าในตลาดนี้ สำนักพิมพ์ขายเองก็ได้ หรือแม้กระทั่งพ่อค้าคนกลางแบบผม ส่วนใหญ่มักเลือกเล่นในตลาดราคา เลือกให้ส่วนลดที่สูงที่สุด ในผลิตภัณฑ์เดียวกันแล้วมีทางเลือกอีกเป็นสิบร้าน ซื้อจากสำนักพิมพ์โดยตรงก็ได้ นั่นหมายความว่าถ้าที่ไหนให้ส่วนลดสูงสุด ก็มีโอกาสได้ลูกค้าไปทั้งหมด ทำให้ค่า GP ที่มันบางมากๆ อยู่แล้วก็ถูกบีบซะจนแทบจะไม่เหลืออะไร เพื่อที่จะกวาดต่อยอดคนอ่านจำนวนมาก

ร้านผมถือว่าราคาแพงกว่าราคามาตรฐานของตลาด แต่ผมไม่เคยขายเกินราคาปก เวลาอยู่ในงานหนังสือผมลดขั้นต่ำ 10% ถ้าซื้อ 4 เล่มขึ้นไปลด 15% ซึ่งก็ยังเป็นราคาที่แพงกว่าเจ้าอื่นอยู่ดี ความเสี่ยงก็คือว่าถ้าลูกค้าไม่เห็นว่าสิ่งที่ผมทำเป็น value ไม่เห็นว่ามันตอบสนองความต้องการบางสิ่งบางอย่างได้ ถ้าเขาแค่ต้องการของที่ถูกที่สุด ในระยะยาวร้านเราจะอยู่ไม่ได้

เพราะฉะนั้นเราจะต้องหารูปแบบการขายหรือนำเสนออื่นๆ ที่ทำให้ตัวเรายังทำอยู่ได้ คนอ่านยังแฮปปี้ ไม่ทำให้ธุรกิจของตัวเองโดนลิดรอน และไม่ทำให้ตลาดพัง ตอนนี้ผมเน้นไปที่การออกงานอีเวนต์ ไปเจอคนอ่านตามงานหนังสือและตามงานที่ต่างจังหวัด

ความเสี่ยงอีกอย่างคือเราไม่มีออริจินอลคอนเทนต์ของตัวเอง หมายความว่าถ้าสำนักพิมพ์เขาเจอคนอ่านของตัวเอง ก็สามารถนำเสนอสินค้าของเขาได้โดยตรง แล้วก็ควบคุมกลไกราคาได้ กำหนดของพรีเมียม หรือแม้กระทั่งบริหารความสัมพันธ์ในระบบสมาชิกอะไรต่างๆ ได้
ผมจึงต้องหาออริจินอลคอนเทนต์ของตัวเองบ้าง โดยอาศัยประสบการณ์ที่ตัวเองเคยทำหนังสือมา วางแผนไว้ว่าในอนาคตอยากเปิดสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง และน่าจะทำหนังสือที่ตรงตามรสนิยมของเรา ซึ่งก็จะไม่แตกต่างจากหนังสือที่ปรากฏอยู่ในร้านอาทิตย์ละเล่ม Bookshop ของเราสักเท่าไหร่

เพราะเราเชื่อว่าเวลาสื่อสารออกไป เราจะพูดได้อย่างเต็มปากบนความถนัดของเรา เรารู้ว่าคนอ่านของเราคือใคร เพียงแต่เราสลับจากการเป็นคนขายอย่างเดียว มาผลิตและขายไปคู่ๆ กัน ผมว่าสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เอื้ออำนวย ส่งเสริมธุรกิจเราไปพร้อมๆ กัน

การทำธุรกิจสไตล์ของคุณคิดว่าเป็นคนที่ยอมเสี่ยงหรือชอบเพลย์เซฟมากกว่ากัน

ย้อนกลับไปก่อนเริ่มทำธุรกิจ ผมตอบได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าผมเป็นสายเสี่ยง เรามีความสุขที่ได้ลองผิดลองถูก แล้วเราก็ถอดประสบการณ์มา แล้วก็อย่าทำซ้ำเหมือนเดิมอีก ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเรามีความปลอดภัยในชีวิตประมาณหนึ่ง จากที่ทำงานประจำทำให้เราเชื่อว่าเราเสี่ยงได้

แต่พอมาทำธุรกิจของตัวเอง ผมมีความกลัวเต็มไปหมด กลัวจะเจ๊ง กลัวว่าจะขาดทุน กลัวว่าบริษัทจะล้ม ความรู้สึกนี้มันมาพร้อมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น แม้กระทั่งบอกว่าเป็นความเสี่ยง ก็ยังเป็นความเสี่ยงบนความเจ็บที่รับได้ ไม่น่าจะมีครั้งไหนที่ผมเทหมดหน้าตัก แบบทุบหม้อข้าวทิ้ง ถ้าถามว่าวันนี้ต้องตัดสินใจทำอะไรที่เสี่ยงมากๆ เพื่อผลตอบแทนมหาศาลกว่านี้ ผมจะตอบว่าผมอาจจะไม่ทำ ผมเสี่ยงได้แค่ประมาณนี้

แต่ผมยังมีมุมที่เสี่ยงบางมุมอยู่ อย่างช่วงที่ผมไปออกอีเวนต์ตามต่างจังหวัด ถ้าเทียบสเกลกับงานหนังสือใหญ่แล้ว มันแตกต่างกันเยอะมาก อาจจะเสี่ยงในเรื่องของยอดขาย แต่สิ่งที่ผมคาดหวังคืออยากเห็นว่าคนอ่านของเราตามต่างจังหวัดหรือตามภูมิภาคต่างๆ นั้นมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ตัวเลขที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียที่เขากดติดตามเราเท่านั้น

แล้วถ้าดูในหลังบ้าน TikTok หลังบ้าน Instagram เราจะเห็นว่าคนตามเราอยู่เชียงใหม่เยอะ ก็เลยไปออกบูทที่งานเชียงใหม่บุ๊คแฟร์ ซึ่งสิ่งนี้ก็เสี่ยงนะ ถ้าเราไปออกบูทแล้วไม่เจอคนอ่าน ก็น่าจะเจ็บตัวจากค่าใช้จ่ายที่ไปออกบูทอยู่ แต่เราเจ็บตัวได้แค่นี้ เราจะไม่พยายามเจ็บไปกว่านี้

ในอนาคตมีแผนอยากเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเองบ้างไหม

ถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว การมีหน้าร้านหนังสือเป็นของตัวเองคือ priority แรกของผมเลย แต่ปรากฏว่าพอระยะเวลาผ่านไปผมพบว่าในฐานะคนทำธุรกิจรุ่นใหม่ การที่เราต้องลงทุนกับ fixed cost ในแต่ละเดือน ที่มีรายจ่ายแน่นอนในจำนวนที่เยอะมากๆ ทั้งค่าเช่าที่ ค่าพนักงาน และไม่มั่นใจว่าก่อให้เกิดรายได้ยังไงบ้าง ทำให้เราต้องแยกระหว่างความอยาก โอกาส ความเป็นไปได้ และความเสี่ยง

ผมว่ามันไม่ง่ายเลย แต่มันยังคงอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจที่อยากทำ และคิดว่าถ้าวันหนึ่งพร้อม อาจจะไม่ใช่ในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ แต่ผมเชื่อว่าจะมีวันนั้น ผมก็อยากเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง

บทเรียน 3 ข้อที่อาทิตย์ละเล่มให้กับคุณคืออะไร

ข้อแรกคือ ผมไม่เชื่อว่าโลกนี้มีวิธีการทำงานที่ประสบความสำเร็จแบบเดียว ผมเคยอยู่ในองค์กรที่บอกว่าต้องทำแนวทาง A เท่านั้น ถึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเปิดบริษัทก็คือโลกนี้ไม่ได้มีวิธีการทำงานเพียงแค่แบบเดียวที่จะทำให้เราได้ผลตามเป้าหมายอย่างที่ควรจะเป็น แมวที่สีกระดำกระด่างแบบผมก็น่าจะพอจับหนูได้

ข้อที่สอง รักคนที่เขาสนับสนุนและคนที่อยู่กับเราในวันแรกๆ ให้มาก จริงใจและซื่อสัตย์ ดูแลเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนใหญ่ผมเป็นคนจำหน้าคนไม่ได้ แต่ผมจะพยายามจำหน้าลูกค้าที่ไปบูทให้ได้ พยายามจำรสนิยมการอ่านของเขา บางคนต่อให้เขาไม่เขียนโจทย์มาผมรู้ว่าผมจะหยิบเล่มไหนให้เขา

รวมถึงลูกค้าที่มาสปอนเซอร์ช่องผมในวันที่มีผู้ติดตามแค่หลักพัน เขาให้ค่าลงโฆษณาช่องผม 3,000 บาท ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้ว่าเยอะหรือน้อย แต่ทุกวันนี้ผมมีผู้ติดตามหลายหมื่นคน ผมก็ยังคิดค่าโฆษณาเขาแค่ 3,000 บาทไปตลอดชีวิต ต่อให้วันหนึ่งคนติดตามผมขึ้นไปถึงหลักแสน หลักล้าน

ในการทำธุรกิจผมเชื่อว่าต้องมีเรื่องเงิน เรื่องผลประโยชน์อยู่แล้ว แต่ผมอยากเว้นพื้นที่ให้เรื่องของหัวจิตหัวใจ เรื่องของความสัมพันธ์ ยังเก็บมิติความเป็นมนุษย์เอาไว้ซัพพอร์ตคนที่เขาซัพพอร์ตเรา ถ้าเราไม่มีมิติความเป็นมนุษย์เลย ต่อให้ธุรกิจเราอยู่ได้ มันก็จะแห้งแล้ง แล้วมันจะไม่ใช่รูปแบบธุรกิจที่ผมจะอยากไปแน่นอน

ข้อที่สาม สำหรับผมแล้วไม่ว่าใครจะมองยังไงก็ตาม ต่อให้มันเริ่มต้นจากจุดที่เล็กที่สุด แต่เป้าหมายของผมและของบริษัทผมจะทะเยอทะยานที่สุดเสมอ วันนี้แค่ผมประกาศไปว่าเป้าหมายต่อไปของผมคืออะไร บางคนอาจจะคิดว่าเพ้อเจ้อจัง ทะเยอทะยานจัง เป็นไปไม่ได้ แต่ผมไม่สนใจเลย

ผมเริ่มต้นความฝันมาเปิดร้านหนังสือ จากการเป็นมวยวัดที่ต่อยสะเปะสะปะ แต่ทุกครั้งที่ผมต่อย ผมมองว่าผมจะต้องเป็นแชมป์ และผมอยากจะเป็นแชมป์โลกมวยวัดที่ไปต่อยบนเวทีสากลกับคนอื่นได้ พูดกันแบบตรงไปตรงมาว่ามันดูทะเยอทะยาน มันอาจจะเป็นไปไม่ได้ก็ได้ แต่ฉันจะต่อยเพื่อเป้าหมายแบบนี้ในทุกๆ วัน แล้วลองมาดูกันว่าการทำธุรกิจแบบมวยวัดของผมจะพาผมไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Capital

ล้วงลึกแนวคิด Upbit แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก

3 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ธุรกิจเดลิเวอรีกับปัญหาแย่งพื้นที่ถนน

12 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

น้องเมยตายเพราะขึ้นบันไดผิด? เปิดปม "บันไดศักดินา" เตรียมทหารฯ

SpringNews

Whole Food Diet แบบบ้านๆ ก็ดีต่อสุขภาพได้ ไม่ต้องสายคลีนสุดโต่ง

THE POINT

"บาร์บีคิวพลาซ่า" เปิดโฉมใหม่ที่เซ็นปิ่น พร้อมไฮไลต์พิเศษกับเมนู GON SELECT

Manager Online

ถอดรหัสภาษากายสี่ขา รู้จักอารมณ์ "น้องหมา" ผ่านท่าทางและเสียง

คมชัดลึกออนไลน์

JISOO IN NEW DIOR ชุดสั่งตัดพิเศษโดย Jonathan Anderson ที่คอนเสิร์ต BLACKPINK

THE STANDARD

ผลกระทบ “พายุวิภา” อช.ภูสอยดาว ประกาศปิดการท่องเที่ยวชั่วคราว

Manager Online

ล้วงลึกแนวคิด Upbit แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก

Capital

ออม กรณ์นภัส ส่งซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรก ระยะไกลของดวงจันทร์ ประกอบซีรีส์ เพียงเธอ Only You The Series

THE STANDARD

ข่าวและบทความยอดนิยม

12 ปี MAT ARCHER และเบื้องหลัง 5P ที่ใช้ชุบชีวิตอวนประมงเหลือทิ้งให้เป็นสารพัดสินค้า

Capital

ทำยังไงให้ได้ใจลูกค้าฉบับ KFC ในวันที่ผู้บริโภค ‘เลือกมากขึ้น’ แต่ ‘จ่ายน้อยลง’ สรุปจากงาน CTC 2025

Capital

คุยกับหัวเรือใหญ่ Upbit Thailand แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยากให้ลูกค้าลงทุนอย่างปลอดภัยและมีความรู้

Capital
ดูเพิ่ม
Loading...