โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

“เกิดขึ้นอีก เพียงแต่จะเป็นใคร” คุยกับ อ.มุนินทร์ ถึงรัฐธรรมนูญไทย ให้อำนาจตีความ ‘เรื่องไม่ถูกใจ’ เป็น ‘ผิดจริยธรรม’?

TODAY

อัพเดต 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 15 ชั่วโมงที่ผ่านมา • workpointTODAY

“มันจะเกิดขึ้นอีก เพียงแต่จะเป็นใคร จากพรรคการเมืองไหน เป็นผลที่คาดได้อยู่แล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน” ถ้อยคำของ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่พูดผ่านรายการ TODAY LIVE ในวันนี้ (2 ก.ค.) อาจคล้ายความเห็นของนักวิชาการด้านนิติศาสตร์จำนวนไม่น้อย

แต่ประโยคลักษณะนี้ ที่ต่างกันเพียงคำเชื่อมระหว่างประโยค อ.มุนินทร์ เคยกล่าวกับเรา มาแล้วถึง 2 ครั้ง ในเดือน ส.ค. ปี 2567 ทั้งในครั้งที่ตัดสิทธิ์ กก.บห. พรรคก้าวไกล และวันที่อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน หลุดเก้าอี้

นั่นยิ่งเพิ่มน้ำหนัก ว่าความเห็นเช่นนี้ ไม่ได้มีเพื่อช่วยนักการเมือง ให้ไม่ต้องรับผิด อย่างที่บางส่วนตั้งข้อครหา แต่กำลังชี้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ต่างกับการติดอาวุธให้ ‘ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทย’ อย่างที่ไม่มีให้เห็นในประเทศไหน ถึงทำให้ ผลคำตัดสินให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเกิดขึ้นกับ นายกฯ ‘ชินวัตร’ อย่าง แพทองธาร ชินวัตร กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ไม่ได้เกินความคาดหมาย ตามความเห็นของ อ.มุนินทร์

[เปิดไต่สวน นายกฯ ย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย]

ถึงจะย้ำตั้งแต่ต้น ว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทว่า ในฐานะนักนิติศาสตร์ ก็ยังเห็นใจ และเศร้าใจ ไปกับการให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่อย่างที่ทำอยู่

ภาพ อานันท์ ชนมหาตระกูล / Thai News Pix

อ.มุนินทร์ เริ่มต้นด้วยการแสดงความเห็นใจนักการเมือง และพรรคการเมือง ที่เข้าสู่กระบวนการที่เป็น ‘เหยื่อ’ ของระบบตรวจสอบ “แน่นอนนักการเมืองทำผิด ต้องรับผิดตามกฎหมาย โดยเข้าสู่การตรวจสอบ…แต่ทุกพรรคที่เข้าสู่กระบวนการนี้ ไม่ว่าใครก็ตาม เป็น ‘เหยื่อ’ ในกลไกรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้น”

“ลำพังเพียงแค่คลิปเสียง คำพูดที่ไม่เหมาะสม หรือวิธีการที่ไม่ถูกต้อง หรือ ถูกใจคน มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง แต่ในทางกฎหมาย ยังไม่มีความหนักแน่นเพียงพอ ที่จะเอานายกฯ หลุดจากตำแหน่ง” อ.มุนินทร์ กล่าว

ถึงจะยอมรับว่า ศาลต้องตัดสินรับคำร้องด้วย มติ 9 ต่อ 0 ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมีแนวโน้มที่ศาลจะรับไว้ก่อน เมื่อพยานหลักฐานไม่ชัดเจน จำเป็นต้องตรวจสอบอีกมาก ในแง่หนึ่งการสร้างเวทีในศาลให้ได้ไต่สวน ก็อาจเป็นผลดีและเสีย ไม่ใช่แค่กับนายกฯ

“การสร้างโอกาส ในการไต่สวนนายกฯ มีราคาที่ต้องจ่ายเยอะมาก ยิ่งถ้าคิดในแง่ว่านี่คือ นายกฯ ผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหาร แล้วถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ง่ายเหลือเกิน จนก่อให้เกิดสุญญากาศ…เป็นราคาที่เราไม่เจอในประเทศไหน”

[ไม่ถูกต้องไม่ถูกใจ ผลลัพธ์เทียบเท่า ‘ผิดจริยธรรม’?]

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อ.มุนินทร์ ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ ซึ่งมีศาลรัฐธรรมนูญเหมือนไทย และมีต้นแบบเดียวกัน คือ เยอรมนี

ไม่นานมานี้ หลายคนอาจพอจำได้ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอนอดีตประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล จากเหตุที่ผู้นำใช้อำนาจเผด็จการ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรวบอำนาจ และกำจัดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ยิ่งกว่านั้น ขั้นตอนถอดถอนยังต้องผ่านการโหวตจาก สภาฯ มาแล้วชั้นหนึ่ง ก่อนที่ศาลต้องลงมติด้วยเสียงแบบเอกฉันท์

นั่นเอง ทำให้ อ.มุนินทร์ มองว่า ไทยกับเกาหลีใต้อาจใกล้ชิดเพียงระยะทาง แต่ระดับของนิติรัฐคล้ายอยู่กันคนละโลก

ภาพ อานันท์ ชนมหาตระกูล / Thai News Pix

ด้วยอำนาจอันกว้างขวางของศาลรัฐธรรมนูญไทย ที่กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ผู้ร่างให้ไว้ ทั้งในมาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

อ.มุนินทร์ กล่าวว่า หลายประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและความสุจริต ก็จะพยายามจำกัด หรือมีกฎเกณฑ์การใช้เคร่งครัด ต่างกับ ศาลรัฐธรรมนูญไทย มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจ มากกว่าที่คนคาดการณ์ไว้เสียอีก

“เขาจะพยายามจำกัดอำนาจตัวเอง ตระหนักเสมอว่า ศาลมีหน้าที่ในการตีความกฎหมาย ระงับข้อพิพาท แต่พยายามไม่ไปก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารมากจนเกินไป จนทำให้เกิดความปั่นป่วน”

[ปรับอาวุธ ง่ายกว่าเปลี่ยนคน]

เช่นนี้แล้วทางไปต่อของไทยอยู่ที่ตรงไหนกัน? อาจารย์นักกฎหมาย ตอบคำถามนี้ และยกตัวอย่างไว้ชัดเจน ลองคิดตามถึงแนวปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญ กับตุลาการศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม อ.มุนินทร์ ชี้ว่า แทบจะไม่พบผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม หรือตุลาการในศาลปกครอง ให้ความเห็นต่อคดีที่กำลังตัดสินทั้งก่อนและหลัง เพราะอาจทำให้คนสงสัยในการทำหน้าที่ ทว่า ผู้พิพากษาจะใช้ ‘คำพิพากษา’ เป็นเครื่องแสดงความคิดที่ชัดเจนสุด

“ความเห็นของอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือนักวิเคราะห์บางส่วน ที่มองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาล จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เหมือนศาลอื่นๆ อันนี้คือเรื่องที่เราไม่เคยชินเลยในทางนิติศาสตร์ แต่เริ่มจะเคยชินแล้วว่า แนวปฏิบัติของ ‘ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทย’”

นั่นเองเมื่อต้องเลือกระหว่าง เปลี่ยนอาวุธ กับ เปลี่ยนคน อ.มุนินทร์ จึงตอบได้ไม่ยาก “เปลี่ยนอาวุธดีกว่า คือทำให้ไม่เป็นอาวุธเสีย เปลี่ยนที่ระบบ นั่นคือรัฐธรรมนูญปี 2560”

“คนเราเปลี่ยนไม่ได้หรอก ตราบใดที่รักโลภโกรธหลง เราไม่รู้เขาคิดอะไร อะไรเป็นมูลเหตุจูงใจ ผมพยายามสันนิษฐานว่า เขาคงจะเชื่อว่าตัดสินอย่างเป็นธรรม กำลังช่วยสังคมและแก้วิกฤตการเมือง ตามที่ตุลาการของท่านให้สัมภาษณ์”

ภาพ อานันท์ ชนมหาตระกูล / Thai News Pix

[‘นักการเมือง’ ไม่ได้ลงแรง แถมยังใช้ทิ่มแทงกันเอง]

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น สิ่งที่ อ.มุนินทร์ รู้สึกต่อนักการเมือง ไม่ใช่แค่ความน่าเสียใจ แต่ ‘ความน่าเศร้าใจ’ เด่นชัดไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในระยะเวลาราว 2 ปีมานี้ “ไม่มีใครทำอะไรเลย ทั้งที่รู้ว่าวันนี้จะต้องมาถึง ไม่ว่าจะคิวของใคร พรรคไหน”

อ.มุนินทร์ เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนคนที่กำลังช่วงชิงทรัพย์สมบัติ ในบ้านที่กำลังไฟไหม้ “ไม่สนใจอะไร ขอแค่ให้ฉันได้ครอบครอง ช่วงระยะสั้นๆ ก็พอ สุดท้ายก็ตายกันหมดในกองเพลิง เพราะแทนที่จะช่วยกันหาวิธีดับไฟ ซึ่งต้นตอของเพลิง คือ รัฐธรรมนูญ กลับไม่มีใครสนใจแก้”

กระทั่งพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้ร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ปัญหา เพราะสื่อสารว่า กำลังโฟกัสกับนโยบายที่ปากท้อง ทั้งที่ท้ายสุด รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก็แทบไปต่อไม่ได้

“บางคนบอกว่าเป็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่ผมมั่นใจว่า ปัญหาไปไกลกว่านั้น อยู่ที่ระบบคือรัฐธรรมนูญ ทำให้ทางเลือกทางการเมืองน้อย”

อ.มุนินทร์ ยกตัวอย่าง การคัดเลือก สว. ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง จนประชาชนตื่นกลัว เพราะมีอำนาจถอดถอนบางอย่าง “พวกนี้เป็นตัวแปร ที่ทำให้การตัดสินใจทางการเมือง เปลี่ยนแปลงไป”

นี่เองทำให้ อาจารย์นักกฎหมายรายนี้ มองว่า น่าจะถึงช่วงเวลาที่นักการเมืองเห็นตรงกันแล้ว ว่าต้องสร้างบ้านใหม่ สร้างกฎกติกาใหม่ “ผมอยากเห็นระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ที่มีผู้แทนแบบเรียบง่ายที่สุด มีองค์กรอิสระที่น้อยที่สุด ให้กลไกการแก้ไขปัญหาทางการเมือง อยู่ในมือประชาชนให้มากที่สุด”

ภาพ อานันท์ ชนมหาตระกูล / Thai News Pix

ย้อนไปที่ตัวอย่างเกาหลีใต้ ซึ่งผ่านช่วงเวลามาไม่ต่างกัน แต่สุดท้ายสามารถสร้างสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบใหม่ได้ เพราะนักการเมืองมองว่า ศัตรูร่วมคือเผด็จการ จึงจับมือกันสร้างกติกาใหม่ แล้วค่อยมาแข่งขันกันใหม่ในทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้เช่นกัน

“เราได้ผ่านประสบการณ์การที่มีระบบกฎหมาย ระบบตรวจสอบที่ซับซ้อนมาก จนกระทั่งกลายเป็นอาวุธทิ่มแทงเราเองมาแล้ว ชัดเจนว่า เราต้องการระบบที่ธรรมดาสามัญที่สุด สุดท้ายถ้าแก้อะไรไม่ได้ ก็ให้การเลือกตั้งแก้ปัญหา ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเอง” อ.มุนินทร์ ทิ้งท้าย

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก TODAY

รันทุกวงการ ‘PlayStation’ จับมือ ‘LISA’ เตรียมเขย่าวงการเกม

14 ชั่วโมงที่ผ่านมา

‘พีช พชร’ ทายาทธุรกิจพันล้าน จากนักแสดงที่เล่นบทนักธุรกิจ จนกลาย ‘นักธุรกิจ’ ในชีวิตจริง

15 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

ศาลรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น คสช. ที่มาเสียงวิจารณ์ตัดสินเอียง?

TODAY

วุฒิสภา ตั้ง ‘อุดม รัฐอมฤต’ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 60 นั่ง ‘ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ’

TODAY

30 ก.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ขาดปม 8 ปี นายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์

TODAY
ดูเพิ่ม