เด็กดี 5 ขวบ จู่ๆ ยืนกรานไม่ไป รร. แม่ค้นพบความลับ “เจ็บปวด” เกินวัยอนุบาลจะรับไหว!
เด็กหญิงวัย 5 ขวบจู่ๆ ไม่อยากไปโรงเรียน แม่เปิดใจสุดช็อก พบเบื้องหลัง "เจ็บปวด” แบบที่ไม่มีใครคาดคิด
เรื่องราวสะเทือนใจของเด็กหญิงวัยเพียง 5 ขวบ ที่จู่ๆ แสดงออกว่าไม่อยากไปโรงเรียน ผู้เป็นแม่ต้องค่อยๆ ถามไถ่ จนได้รับรู้ความจริงอันเจ็บปวด กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงบนโลกออนไลน์ พร้อมปลุกกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้งในระดับอนุบาล ซึ่งมักถูกมองข้าม
คุณแม่รายหนึ่งได้แชร์เรื่องราวของลูกสาวตัวน้อยผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเริ่มต้นจากข้อความธรรมดาที่ว่า“ตอนนี้ดิฉันรู้สึกสับสนและเป็นห่วงลูกมาก เลยอยากขอคำแนะนำจากทุกคน” ก่อนจะเล่าต่อถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เธอแทบใจสลาย จากเด็กเรียบร้อยสู่คำพูดที่เปลี่ยนชีวิต
คุณแม่เล่าว่า ลูกสาวของเธอเป็นเด็กเรียบร้อย นิสัยดี มักเล่าเรื่องโรงเรียนให้แม่ฟังทุกคืน โดยตลอดช่วงที่เรียนในระดับอนุบาล ไม่เคยมีปัญหาใดๆ จนกระทั่งใกล้จะเข้าสู่ชั้นประถมปีที่ 1 เด็กเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่อยากไปโรงเรียน ซึมเศร้าและถึงขั้นพูดว่า “อยากอยู่บ้าน ไม่อยากไปเรียนแล้ว”
เมื่อผู้เป็นแม่สังเกตและพูดคุยด้วยความอ่อนโยน เด็กหญิงจึงเริ่มเปิดเผยเรื่องที่ถูกเก็บไว้ในใจมานาน เธอเคยถูกเพื่อนผู้หญิงในห้องตบหน้าถึง 3 ครั้ง เพียงเพราะขัดจังหวะเวลาพูด ถูกบังคับให้นวดหลังจนเพื่อนหลับ และของใช้ที่นำไปโรงเรียนก็มักถูกเพื่อนหยิบไปโดยไม่เคยได้คืน เด็กน้อยได้แต่ร้องไห้เงียบๆ ไม่กล้าบอกครู ไม่กล้าบอกแม่
แม่ไม่รู้ ครูก็ไม่รู้ แต่เด็กหญิงวัยเพียง 5 ขวบกลับต้องทนทุกข์จากการถูกกลั่นแกล้งโดยลำพัง….. หลังเรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็ทำให้โลกออนไลน์ระอุแทบจะทันที ชาวเน็ตจำนวนมากต่างแสดงความคิดเห็นด้วยความโกรธ เสียใจ และห่วงใยโดยเฉพาะเสียงสะท้อนพ่อแม่ทั่วประเทศ
“เด็กแค่นี้ต้องมาเจออะไรแบบนี้ อ่านแล้วน้ำตาซึม”
“ลูกเราเคยโดนแกล้งที่โรงเรียนเหมือนกัน เด็กบางคนไม่รู้จะอธิบายยังไง ได้แค่เก็บไว้”
“ครูทำไมไม่รู้เรื่อง? เด็กนั่งร้องไห้คนเดียวได้ยังไง?”
“พ่อแม่ควรสังเกตลูกให้ดี แล้วก็สอนลูกให้รู้จักปฏิเสธ และหาคนช่วยเมื่อต้องเผชิญเหตุแบบนี้”
อย่างไรก็ตาม มีบางเสียงที่ตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของเรื่องนี้ โดยมองว่าอาจเป็นการเล่าเรื่องจากอารมณ์มากกว่ามุมมองที่มาจากข้อเท็จจริง อีกทั้งยังไม่มีคำชี้แจงจากทางคุณครูหรือโรงเรียน แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เรื่องราวนี้ก็ได้จุดประกายให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการกลั่นแกล้งในวัยอนุบาล ซึ่งแม้จะยังเป็นเด็กเล็ก แต่ก็มีความรู้สึกเจ็บปวดไม่ต่างจากใคร
กลั่นแกล้งไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กโต อนุบาลก็มีความเจ็บปวดไม่ต่างกัน
หลายคนมองว่า "การกลั่นแกล้ง" มักเกิดในระดับมัธยม เมื่อเริ่มมีการแบ่งกลุ่มและพฤติกรรมเข้าสังคม แต่ความจริงแล้วเด็กวัยอนุบาลที่อายุเพียง 3-5 ขวบ ก็สามารถตกเป็นเหยื่อของพฤติกรรมรุนแรงทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น ถูกล้อเลียนถูกแยกกลุ่ม หรือถูกบังคับให้ทำตามคำสั่งของเพื่อนที่มีบุคลิกแข็งกร้าวกว่า
สิ่งที่น่าห่วงคือ เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถระบุหรือเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ได้ชัดเจน บางคนถูกทำร้ายแต่คิดว่าเป็นการเล่น บางคนเพียงรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน แต่ไม่รู้จะอธิบายให้ใครฟังอย่างไร
โดยเฉพาะเด็กที่มีบุคลิกเงียบขรึม มักเลือกที่จะหลีกเลี่ยงปัญหา แทนที่จะร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งหากสถานการณ์นี้ดำเนินต่อไปโดยไม่มีผู้ใหญ่รับรู้ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจระยะยาว เช่น ความรู้สึกด้อยค่า การขาดความมั่นใจ หรือปัญหาทางสังคมในอนาคต
แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไร? เมื่อพบว่าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน หงุดหงิดง่าย หรือเงียบผิดปกติ สิ่งแรกที่ควรทำคือ “ตั้งใจฟัง” ไม่ใช่ด่วนตัดสินหรือดุด่าลูกเพราะความกังวล พ่อแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกกล้าบอกเล่าเรื่องราวโดยไม่กลัวถูกตำหนิ หลังจากได้รับข้อมูลแล้ว ควรพูดคุยกับครูหรือโรงเรียนอย่างใจเย็น เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้นสำหรับเด็ก
พร้อมกันนั้น ควรเริ่มปลูกฝังทักษะการป้องกันตัวเองให้ลูก เช่น การกล้าปฏิเสธ การรู้จักขอความช่วยเหลือ และการบอกความรู้สึกของตัวเองให้คนอื่นฟังผ่านสถานการณ์จำลองหรือการพูดคุยประจำวัน หากเด็กมีสัญญาณของความเครียดต่อเนื่อง เช่น ฝันร้าย นอนไม่หลับ หวาดกลัวสังคม หรือไม่อยากพูดกับใครเลย ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กทันที
สร้างโลกที่ปลอดภัยให้ลูก เริ่มจากความเข้าใจของผู้ใหญ่…. ในโลกที่เด็กยังไม่มีเสียงดังพอจะปกป้องตัวเอง ความใส่ใจของพ่อแม่และครูคือเกราะป้องกันชั้นแรกที่สำคัญที่สุด เพราะบางครั้ง "ความเงียบของเด็ก" อาจเป็นสัญญาณแรกของความเจ็บปวดที่กำลังเกิดขึ้น
ดังนั้น แทนที่จะถามว่า "แค่นี้จริงจังไปไหม?" ลองถามว่า "วันนี้มีอะไรทำให้หนูไม่สบายใจหรือเปล่า?" แล้วตั้งใจฟัง… ด้วยหัวใจที่เข้าใจจริงๆ เพราะเด็กไม่ต้องการโลกที่สมบูรณ์แบบ พวกเขาแค่ต้องการผู้ใหญ่ที่พร้อมรับฟัง เมื่อพวกเขาเจ็บปวด