ศึกภาษีทรัมป์
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนการเดินทางของคณะเจรจาเศรษฐกิจไทย หรือ "ทีมไทยแลนด์" สู่สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ก่อนที่เส้นตายการตัดสินใจด้านภาษีจะมาถึงในวันที่ 8 กรกฎาคม
การหารือครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดแรงเสียดทานทางการค้า ภายใต้บริบทที่ไทยอาจเผชิญมาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อภาคการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ที่ผ่านมา ไทยและสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยเชิงลึกในหลายวาระ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การเดินทางของทีมไทยแลนด์ครั้งนี้จึงถือเป็น "รอบเก็บตก" ที่เน้นการขัดเกลาประเด็นย่อย และเจรจาต่อรองภายใต้กรอบข้อเสนอของไทย โดยเปิดรับเงื่อนไขของสหรัฐฯ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน (win-win outcome)
“เราจะวางโจทย์ให้เป็นวิน-วินทั้งสองฝ่าย โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่สอดคล้องกัน”
แม้ไทยกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 36% แต่มีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายสำนักว่าการจัดเก็บจริงอาจอยู่ที่ 18% อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีคลังยืนยันว่า ตัวเลขดังกล่าวยังไม่มีข้อยืนยันอย่างเป็นทางการ และการเจรจาในช่วงโค้งสุดท้ายจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราภาษีในทางปฏิบัติ
สิ่งที่ไทยยืนยันอย่างหนักแน่น คือ "ต้องไม่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่น" เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
นอกจากภาษีโดยตรง ทีมไทยแลนด์ยังใช้โอกาสนี้เจรจาในประเด็นที่ไม่ใช่ภาษี เช่น กฎเกณฑ์ทางการค้า พิธีการนำเข้า-ส่งออก และอุปสรรคเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจซ่อนต้นทุนแฝงจำนวนมาก
การเปิดโต๊ะเจรจาครั้งนี้ จึงมิใช่เพียงการ “ลดผลกระทบ” หากแต่เป็น “โอกาส” ที่ไทยสามารถใช้ทบทวนกฎระเบียบภายใน เพื่อปรับปรุงความคล่องตัวในการทำธุรกิจระหว่างประเทศในระยะยาว
ยิ่งในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ไทยไม่ควรเปิดศึกหลายด้าน และต้องแสวงหาแนวร่วมสร้างกลไกภาษีตอบโต้ ในระดับอาเซียนเพื่อเจรจาในอนาคต