“ฝุ่นพีเอ็ม” เพิ่มความรุนแรงของมะเร็งปอด แม้กับคนไม่สูบบุหรี่
สำนักข่าวซินหัวรายงานจากนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ว่า การศึกษาดังกล่าวซึ่งนำโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ นำเสนอผลการวิเคราะห์จีโนมของมะเร็งปอดในผู้ไม่ได้สูบบุหรี่ชุดใหญ่ที่สุด ซึ่งมอบข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับกรณีมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอาจกระตุ้นการเกิดมะเร็ง แม้ไม่ได้สูบบุหรี่ได้อย่างไร
คณะนักวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ร่วมกันตรวจสอบเนื้องอกในปอดจากผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ 871คน ใน 28 ภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเชอร์ล็อก-ลัง (Sherlock-Lung) ที่มุ่งแกะรอยการกลายพันธุ์ของมะเร็งปอด
การตรวจสอบพบว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะจากการจราจรและแหล่งอุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับการกลายพันธุ์ที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็ง ซึ่งรวมถึงการกลายพันธุ์ในยีนทีพี53 (TP53) และสัญญาณการกลายพันธุ์อื่น ซึ่งมักเชื่อมโยงกับมะเร็งที่มีต้นตอจากการสูบบุหรี่
นอกจากนั้นมลพิษทางอากาศมีความเกี่ยวข้องกับกรณีเทโลเมียร์ (telomere) หรือส่วนปลายโครโมโซมที่สั้นลง ซึ่งเป็นกรณีที่เกี่ยวพันกับการแก่ชราและความสามารถแบ่งเซลล์ลดลง ที่มีแนวโน้มเร่งการลุกลามของมะเร็ง
การทำความเข้าใจว่า มลพิษทางอากาศมีส่วนส่งเสริมการกลายพันธุ์ของเนื้องอกในปอดอย่างไร อาจช่วยอธิบายความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ และตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มเกราะปกป้องสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน มะเร็งปอดในกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ครองสัดส่วนสูงถึง 25% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมดทั่วโลก.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : AFP