สศช. คาดสหรัฐฯ รีดภาษีไทย 18% หวั่นนำเข้าเปลี้ย ลุ้นเจรจาใหม่ผลออกมาดี
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงมุมมองต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีสหรัฐฯ ต่อไทย ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2568 ครั้งที่ 19 ว่า สี่หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีประเทศไทย 18% โดยพิจารณาจาก 3 ประเทศที่ได้มีการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ได้แก่ จีน อังกฤษ เวียดนาม ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ หากต่ำกว่า 18% ก็จะเป็นผลดีต่อไทยมากกว่า ส่วนสินค้าไทยที่นำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด หมูเนื้อแดง แต่มองว่าไม่ได้แย่เกินไป เพราะเป็นสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นสินค้าเพื่อแปรรูปส่งออก เนื่องจากไทยยังขาดวัตถุบางอย่างที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต
ล่าสุดนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าการเจรจากับทีม USTR ของสหรัฐ ซึ่งยังไม่ได้ขอสรุป หลังจากนี้จะทำงานหนักมากขึ้น และปรับเงื่อนไขเสนอให้ชัดเจน ว่าเป็นผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อผลักดันข้อตกลงที่ “win-win” สำหรับทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการของทั้งไทยและสหรัฐ
ทั้งนี้คาดว่ารองนายกฯ จะเจรจาใหม่กับสหรัฐฯ ทันวันที่ 9 ก.ค. 2568 ส่วนสหรัฐฯ จะขยายระยะเวลาในการเจรจาให้หรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่อง แต่ก็คงต้องทำให้ อย่างไรก็ตามหากผลการเจรจาภาษีของไทยสูงกว่าเวียดนามในระดับ 20% ยังไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่จะประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะต้องประเมินประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ด้วย ว่าจะโดนจัดเก็บเท่าใด โดยสมมตฐานมีหลากหลายมาซึ่งต้องไปไล่ดูอีกที
อย่างไรก็ตามกรณีสหรัฐฯ ไม่ลดการจัดเก็บภาษีไทยคงไว้ในระดับเดิม 36% และประเทศอื่นๆ ถูกเก็บตามที่สหรัฐฯ ประกาศมาตั้งแต่แรก คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวได้ 2.3% แต่ล่าสุดเวียดนามจาก 46% ลงมาอยู่ที่ 20% และประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยยังไม่รู้ผลจึงไม่สามารถประเมิน GDP ได้ ดังนั้นขอคำนวณตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวม 5 เดือนแรกปีนี้ยังขยายตัวได้ดี การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาอย่างต่อเนื่องแม้จีนจะเข้ามาไม่มาก ประกอบกับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่จะมาขยับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่วนการส่งออกจะต้องประเมินผลเจรจาภาษีสหรัฐฯ อีกครั้ง