"กรณ์" ห่วงเจรจาลับ "ภูมิธรรม-ฮุน มาเนต" ขาดความชอบธรรม แนะให้สภาฯ มีส่วนร่วม ตาม ม.178
"กรณ์" ห่วงเจรจาลับ "ภูมิธรรม-ฮุน มาเนต" ขาดความชอบธรรม แนะให้สภาฯ มีส่วนร่วม ตาม ม.178
วันที่ 28 ก.ค. 2568 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “กรณ์ จาติกวณิช – Korn Chatikavanij” ระบุว่า ตามข่าวว่ามีการบินไปเจรจาที่มาเลเซีย ระหว่างรักษาการนายกฯ ภูมิธรรม กับ ฮุนมาเนต
ด้วยความที่มีประชาชนจำนวนมากที่ขาดความไว้วางใจในรัฐบาลเพื่อไทย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับกัมพูชา จึงมีความระแวงสูง ว่าท่านรักษาการนายกฯ จะไปตกลงอะไรกับฮุนมาเนต
ตามรัฐธรรมนูญ มีข้อกำหนดกรอบป้องกันให้มีความโปร่งใสในการเจรจาอย่างไรหรือไม่?
ในสมัยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เคยมีมาตรา 190 ให้รัฐบาลต้องให้ข้อมูลกับประชาชน และขอความเห็นชอบจากสภาฯ ‘ก่อน‘ ที่จะไปเจรจาเรื่องอะไรที่มีผลต่ออาณาเขตของประเทศ หรือมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
สมัยนั้น รัฐบาลจะไปเจรจาสัญญาการค้ากับใคร ต้องให้รายละเอียด ต้องฟังเสียงประชาชน และขออนุมัติจากสภาฯ ก่อน
จำได้ว่างานชี้แจง อธิบาย เรื่องต่างๆตามมาตรา 190 หนักมาก กับทั้งรัฐบาล และรัฐสภาฯ
แต่ก็เป็นภาระหน้าที่ที่ดี คุ้มค่า และทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมสูงในการต่อรองกับคู่เจรจา
ผมจำได้ว่าแม้แต่ตอนนั้นเราจะไปเจรจากับจีนเรื่องการลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูง เรายังต้องเสนอกรอบการเจรจากับรัฐสภาก่อนที่จะไปเริ่มคุย
แต่น่าเสียดายที่ มาตรา 190 ถูกยกเลิกไปในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดยมีมาตรา 178 มาแทน แต่มาตรา 178 ไม่มีเงื่อนไขการเปิดข้อมูลให้ประชาชนรับทราบหรือขออนุมัติจากรัฐสภาก่อนไปเจรจา
หาก 190 ยังคงอยู่ ไม่ว่าคุณพิชัยที่ไปคุยเรื่องภาษีกับทรัมป์ หรือคุณภูมิธรรมที่ไปคุยกับฮุนเซน ต้องแจ้งเราให้ทราบก่อนว่ากรอบการเจรจาคืออะไร
แต่ก็ยังดีที่มีบทบัญญัติในมาตรา 178 ว่าสัญญาประเภทนี้อย่างไรก็ต้องผ่านการเห็นชอบโดยรัฐสภาภายใน 60 วันจากที่ได้รับเรื่อง
ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด คุณภูมิธรรมไปเจรจาอะไร ขอให้เป็นข้อตกลงในรูปสัญญา ไม่เป็นเพียงปากเปล่า เพื่อให้สภาฯ ต้องได้มีโอกาสการพิจารณาก่อนที่จะมีผลบังคับใช้
ทั้งหมดนี่คือความเข้าใจของผมที่เคยเป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย หากผู้รู้มีข้อแย้งหรือประเด็นเสริมเติม กรุณาช่วยเพิ่มความกระจ่างครับ