โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

"กัมพูชา" เข้าข่ายก่อ "อาชญากรรมสงคราม" หรือไม่ ?

Thai PBS

อัพเดต 17 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 17 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Thai PBS
การโจมตีของกองทัพกัมพูชาทำให้มีพลเรือนในฝั่งไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งมีสถานที่ของพลเรือนหรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลได้รับความเสียหาย จุดนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่ากัมพูชากำลังก่อ “อาชญากรรมสงคราม” หรือไม่ ขณะที่กัมพูชาก็กล่าวหาไทยในข้อหาเดียวกัน

เมื่อทั้งประเทศไทยและกัมพูชาต่างบอกกับประชาคมโลกว่าการกระทำของตัวเองเป็นการป้องกันตัว ดังนั้นจึงต้องพิสูจน์ว่าใครพูดจริง-พูดเท็จ แต่ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในฝั่งไทยชัดเจนอยู่ในตัว

การก่ออาชญากรรมสงคราม ถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์การสู้รบระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับกลุ่มติดอาวุธ โดยจะบอกว่าใครหรือสิ่งไหนจะต้องไม่ตกเป็นเป้าการโจมตีบ้าง และการโจมตีรูปแบบไหนที่ทำไม่ได้ เพื่อจำกัดผลกระทบ

กัมพูชายิงจรวดหลายลูกเมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 ก.ค. โดยกลุ่มควันที่เกิดจากจรวดเห็นเป็นทางยาวเหนือท้องฟ้าใน จ.อุดรมีชัย ที่ติดพรมแดนไทย ขณะที่กองทัพไทยออกมาประณามอย่างรุนแรง ต่อการใช้อาวุธยิงโจมตีเป้าหมายพลเรือนอย่างต่อเนื่องของกองทัพกัมพูชา ทั้งชุมชนเมือง โรงพยาบาลและโรงเรียน ซึ่งทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

พล.ต.วิทัย ลายถมยา โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า จากหลักฐานที่มีเชื่อได้ว่ารัฐบาลกัมพูชา โดยสมเด็จฮุน เซน อยู่เบื้องหลังการโจมตี ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพต่อชีวิตมนุษย์และการไม่แยแสต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จัดทำฐานข้อมูลกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายดังกล่าว ที่เข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงคราม แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ การทำอันตรายต่อบุคคล หรือสถานที่ที่ต้องได้รับการปกป้อง โดยถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดความเสียหายขึ้น แต่การกระทำนั้นๆ ก็อาจเข้าข่ายข้อหานี้ได้ หากตั้งใจก่อเหตุโดยการพุ่งเป้าไปที่พลเรือน

ขณะที่การกระทำที่ละเมิดคุณค่าสำคัญ แม้จะไม่ได้ทำอันตรายทางร่างกายต่อบุคคล หรือสร้างความเสียหายต่อสถานที่ แต่อาจเข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงครามได้เหมือนกัน เช่น การใช้ประโยชน์จากร่างผู้เสียชีวิตโดยมิชอบ การทำให้คนต้องไปช่วยศัตรูทำสงครามและการเกณฑ์เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้ากองทัพ เป็นต้น อย่างกรณีผู้นำรัสเซีย ขณะนี้ถูกหมายจับในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม กรณีการเนรเทศเด็กจากยูเครนไปรัสเซีย แต่ที่ถูกพูดถึงกันมากในความขัดแย้งไทย-กัมพูชาขณะนี้คือการโจมตีโรงพยาบาล

โรงพยาบาลพนมดงรัก จ.สุรินทร์ ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีของกัมพูชา เมื่อวันที่ 24 ก.ค. โดยภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โรงพยาบาลมีสถานะที่จะต้องได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ ต้องไม่ถูกโจมตีและต้องได้รับการเคารพ แต่อาจจะสูญเสียสถานะการถูกปกป้องได้ หากโรงพยาบาลดังกล่าวถูกใช้ด้วยจุดประสงค์ที่เกินขอบเขตมนุษยธรรม หรือใช้เป็นสถานที่โจมตีฝ่ายศัตรู

หากเป็นกรณีนี้ ฝ่ายที่ต้องการโจมตีโรงพยาบาลจะต้องแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนก่อเหตุ และจุดสำคัญของการสร้างความชอบธรรมในการโจมตี คือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการโจมตีเป้าหมายทางทหารด้วย หนึ่งในกรณีกล่าวอ้างความชอบธรรมในการโจมตีโรงพยาบาลและสถานที่พลเรือน คือ เหตุโจมตีในกาซา ซึ่งกองทัพอิสราเอลอ้างว่ากลุ่มฮามาสใช้สถานที่เหล่านั้นเป็นศูนย์บัญชาการในการโจมตีอิสราเอล

ข้อมูลจากระบบติดตามการโจมตีสถานพยาบาลขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่า นับตั้งแต่ต้น 2568 จนถึงปัจจุบัน เกิดเหตุโจมตีสถานพยาบาลไปแล้วมากกว่า 700 ครั้งใน 15 ประเทศและดินแดน โดยเฉพาะในยูเครน ซีเรีย กาซาและซูดาน โดยในช่วงเวลาไม่ถึง 7 เดือนเต็มของปี 2568 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีสถานพยาบาลทั่วโลกแล้วมากกว่า 1,100 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2567 ทั้งปี ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ระบุว่า กองทัพไทยใช้อาวุธหนักและระเบิดพวงโจมตีดินแดนกัมพูชาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าการใช้อาวุธของไทยสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และบรรทัดฐานขั้นพื้นฐานที่สุด

สถาบัน Lowy ซึ่งเป็น Think Tank ในออสเตรเลีย จัดทำดัชนีอำนาจในเอเชีย ซึ่งมีหลายหัวข้อ รวมถึงขีดความสามารถด้านกลาโหม จากข้อมูลชุดนี้พบว่าไทยมีศักยภาพสูงกว่ากัมพูชาในทุกๆ ด้าน ทั้งงบประมาณและกำลังพลที่สูงกว่าหลายเท่าตัว ขณะที่การฝึกซ้อมและความพร้อมของกองทัพไทยมีคะแนนสูงกว่ากัมพูชา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยจัดการซ้อมรบบ่อยครั้งมากกว่า ทำให้กำลังพลมีความพร้อม หรือแม้กระทั่งประสบการณ์รบ ที่ถึงแม้ทั้ง 2 ประเทศจะมีคะแนนต่ำ แต่ไทยก็ยังได้คะแนนสูงกว่ากัมพูชา

การมีศักยภาพของกองทัพที่สูงกว่าอาจมีประโยชน์ในการใช้กดดันอะไรบางอย่างได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้กำลังรบพุ่งกันเมื่อเกิดความขัดแย้ง เพราะสงครามไม่ได้ทำให้ใครได้ประโยชน์และไม่มีใครเป็นผู้ชนะ เพราะในท้ายที่สุดแล้วทั้ง 2 ฝ่ายที่รบกันย่อมเจ็บตัวด้วยกันทั้งคู่ โดยเฉพาะความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพลเรือน

สงครามเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมาลงโทษผู้กระทำความผิด เมื่อเกิดความขัดแย้งรุนแรงใดๆ ขึ้น แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายกำลังถูกท้าทายอย่างมาก บนเวทีความขัดแย้งระหว่างประเทศในปัจจุบัน

อ่านข่าว

กฎแห่งสงคราม ทำไม "โรงพยาบาล" คือเขตห้ามโจมตี ?

สธ.ออก 9 ข้อสั่งการ ปิด รพ.เขต Hot Zone - วางเส้นทางอพยพ

เร่งอพยพ “บ้านกรวด” บุรีรัมย์ หลังกระสุนปืนใหญ่ตกกว่า 70 ลูก

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thai PBS

เหตุชายแดนบาดเจ็บเพิ่ม 2 คน - รพ.เปิดเฉพาะฉุกเฉิน 10 แห่ง

38 นาทีที่แล้ว

ตร.จับตาอินฟูลฯ ทำคอนเทนท์ปลุกปั่น-เปิดรับบริจาคลวง

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เปิดประตูใหญ่ “ด่านบ้านแหลม” ให้ชาวกัมพูชากว่าหมื่นคนกลับบ้าน

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

กต.ยื่นหนังสือ ICRC ปมกัมพูชาโจมตีพลเรือน-สถานพยาบาล

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าว ต่างประเทศ อื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

"กัมพูชา" เข้าข่ายก่อ "อาชญากรรมสงคราม" หรือไม่ ?

Thai PBS

อว.รวมพลังมหาวิทยาลัยช่วยผู้ประสบภัยปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งศูนย์พักพิง ครัวกลาง

Thai PBS

ทร.แจงใช้ "กฎอัยการศึก" เหตุชายแดนกระทบ ปชช.จันทบุรี-ตราด

Thai PBS
ดูเพิ่ม
Loading...