ปัญหาการยื่นคำขอสถานะคนต่างด้าวและ การขอสัญชาติไทย ตามมติ ครม.
แม่ของผมอยู่เมืองไทยเกิน 15 ปี มีถิ่นที่อยู่ที่แน่นอน และ กลับประเทศต้นทางไม่ได้แล้ว ไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีสัญชาติ จึงเข้าเงื่อนไขการยื่นคำขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าตามระเบียบผู้ใหญ่บ้านจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่แม่ก็ได้รับการแจ้งว่าทางอำเภอให้ทางผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านทำให้ผู้ใหญ่บ้านใช้เป็นช่องว่างในการเรียกรับเงิน
ผู้ให้ข้อมูลกับ ไทยพีบีเอส
นี้ คือข้อมูลจากลูกชายผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนคนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกผู้นำชุมชนเรียกรับผลประโยชน์จนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และ ร้องเรียนให้ไทยพีบีเอสตรวจสอบ
เขาเรียกเงิน 2 ครั้ง ครั้งแรกให้จ่ายตอนยื่นรายชื่อ 5,000- 15,000 บาท และจ่ายอีกครั้งตอนทำเรื่องแล้วเสร็จอีก 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 3 หมื่นบาท โดยบอกว่าเป็นเงินที่ต้องจ่ายให้กับทางอำเภอ
ชายคนนี้บอกว่าเงิน 30,000 บาท ถือเป็นจำนวนเงินที่เยอะมาก สำหรับคนต่างด้าว พวกเขาต้องทำงานทั้งปี การนำเงินมาจ่ายให้โดยไม่รู้ว่าคำขอที่ยื่นไปจะผ่านหรือไม่ทำให้ชาวบ้านกังวล และ ลังเล
แม่ต้องไปหายืมเงินมาก่อน ตอนนี้เตรียมไว้ 11,000 บาท และ กำลังต่อรองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะลดราคาลง เท่าที่พอจะจ่ายไหว เพราะเราไม่มีโอกาสที่จะต่อรอง หรือ ปฏิเสธได้ หากเราไปแจ้งที่อำเภอผมเชื่อว่าคงไม่สามารถช่วยได้ เพราะคิดว่าเขาคงทำงานเป็นทีม เป็นกลุ่มเดียวกัน
ชายคนนี้บอกว่าปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน แต่คนต่างด้าวไม่กล้าร้องเรียน และ ต้องยอมรับสภาพ เพราะมีบทเรียนสำหรับคนต่างด้าวที่เคยเปิดโปงการเรียนรับเงินของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ผู้ถูกร้องจะผิดจริง แต่สุดท้ายคนเปิดโปงกลับถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกาย จนไม่กล้าอาศัยอยู่ในชุมชน
นอกจากชายคนนี้แล้วไทยพีบีเอสยังได้รับข้อมูลจากผู้ยื่นคำขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายในอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ว่า สมาชิกในครอบครัว 3 คน ถูกเรียกเก็บเงินคนละ 3,500 บาท โดยอ้างว่าเป็นค่าจัดหาบุคลากรมาทำหน้าที่จัดการด้านเอกสาร และ การจ่ายเงินให้ใช้วิธีการจ่ายเงินสดทำให้ไม่มีหลักฐานการโอนเงิน นอกจากนี้ ยังทราบว่าชาวบ้านบางส่วนมีข้อมูลในทะเบียนประวัติที่ไม่ถูกต้อง และ ต้องมีการแก้ไข ก็จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง
หญิงสาวอีกรายเล่าว่าแม่เป็นคนต่างด้าว เข้าไปติดต่อขอยื่นคำร้องกับทางอำเภอ แต่เจ้าหน้าที่ให้กลับไปยื่นเอกสารผ่านผู้ใหญ่บ้าน แต่เนื่องจากแม่เดินทางไปทำงานนอกพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้านจึงให้จ่ายเงิน 5-6 พันบาท อ้างว่าทางอำเภอกำหนดมา ส่วนกรณีเป็นคนในหมู่บ้าน ก็ต้องจ่ายเงิน 3,500 บาท จึงตัดสินใจชะลอการยื่นคำร้องไปก่อน
กระแสข่าวการเรียกรับเงินทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนพยายามชี้แจงชาวบ้านว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และ ไม่มีพฤติกรรมที่ส่อทุจริต เช่นที่ว่าการอำเภอแม่ริม ทีมข่าวพบว่าคนต่างด้าวที่ไปยื่นคำขอ ไม่ได้ถูกเรียกรับเงิน และ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพียงหลักร้อยบาท
อภิชาติ สินณรงค์ หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
อภิชาติ สินณรงค์ หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ระบุว่าจังหวัดเชียงใหม่มีประชากรกลุ่มเป้าหมายแก้ปัญหาสัญชาติ และ สถานะ ตามมติ ครม.29 ต.ค.2567 จำนวน 97,000 คน เฉพาะอำเภอแม่ริมมีจำนวน 3,700 คน โดยได้เริ่มรับคำร้องตั้งแต่วันแรกที่เปิดระบบ คือ 30 มิถุนายน 2568 และ ให้ยื่นคำขอเป็นรายตำบลเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ ลดความแออัด และ มีการเตรียมเอกสาร ล่วงหน้าก่อนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ยืนยันว่าได้ย้ำไม่ให้ผู้นำชุมชนเรียกรับเงินจากชาวบ้าน
อำเภอได้ทำหนังสือแจ้งเวียนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตร ให้ปฏิบัติตามบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยไม่มีการเรียกรับเงิน หากมีการเรียกรับ หรือ แอบอ้าง ขอให้ชาวบ้านแจ้งข้อมูลในทางลับเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง ยอมรับว่ามีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามา แต่เป็นอำเภออื่น ซึ่งก็ได้ส่งต่อให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ที่ตั้งใจทำงาน หรือ กระทบความรู้สึกของผู้ปฏิบัติหน้าที่ การลดเวลาในการดำเนินการจาก 270 วัน เหลือ 5 วัน ไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากสำหรับเจ้าหน้าที่
สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล
สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ตั้งข้อสังเกตถึงระบบการจัดคิวในพื้นที่อำเภอที่มีประชากรกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 5,000 คน ซึ่งทั่วประเทศ มีอยู่ 22 อำเภอ จาก 7 จังหวัด แม้ในระเบียบการยื่นคำขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมีพยานบุคคลมารับรอง เพราะผู้ยื่นจะเป็นผู้รับรองตัวเอง แต่กระบวนการในหลายที่ยังส่งไม้ต่อให้กำนัน และ ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ตรวจสอบว่าอยู่ในหมู่บ้านจริงหรือไม่ บางพื้นที่จำเป็นต้องมีรายชื่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงจะให้อำเภอรับคำร้อง ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการเรียกรับเงิน
เราไม่เห็นกับตา แต่มีข่าวในโซเชียลว่ามีการเรียกรับเงิน หนาหู มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น จนบางอำเภอบอกว่าแทบจะเปลี่ยนชื่อกรมการปกครอง เป็นกรมการจัดหาเงิน
ข่าวการแสวงหาผลประโยชน์ทำให้เรามัวหมอง คนทำงานที่ตั้งใจทำงานก็มีเยอะ การกระทำเช่นนี้ทำให้เสียภาพลักษณ์ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นไม่ศรัทธาต่อกระบวนการ วันนี้ ถึงขั้นที่ว่ากระดาษ A4 มีราคาหลักพัน
ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ยังให้ความเห็นอีกว่า การเรียกรับเงินเป็นเรื่องสมคบคิด คนที่อยากให้แต่ไม่มีคนรับ ก็ไม่สำเร็จ หรือ คนเรียกรับแต่ไม่มีคนให้ ก็ไม่สำเร็จ ประเด็นคือผู้ทรงสิทธิ์บางคนอยากได้เร็วเพราะรอมาตลอดชีวิต เมื่อมีทางด่วนก็ยอมที่จะจ่าย หรือ บางคนไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน แต่มีชื่อในระบบ กลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกผู้ที่มีอำนาจในพื้นที่เรียกรับผลประโยชน์ เพราะถ้าไม่จ่าย ก็จะไม่ได้รับการยืนยันตัวตน
วันนี้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายไม่ว่าจะเป็น DSI ป.ป.ท. ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ป. กำลังตามเรื่องพวกนี้ ผู้ที่เรียกรับเงินจึงต้องระวัง หากทำอะไรที่ไม่บริสุทธิ์ใจ เรื่องราวก็จะถูกตีแผ่ เพราะวันนี้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางสื่อสารเรื่องร้องเรียนที่สะดวกมาก
วิฑูรย์ สิรินุกุล รองอธิบดีกรมการปกครอง
วิฑูรย์ สิรินุกุล รองอธิบดีกรมการปกครอง ระบุว่าในการดำเนินการตามประกาศกระทรวง มีระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ไปสิ้นสุดวันที่ 27 มิถุนายน 2569 มีกลุ่มคนเป้าหมายกว่า 4.8 แสนคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบ
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า มีผู้ใหญ่บ้าน และ กำนัน เรียกรับเงินหลักพันถึงหลักหมื่นบาท รองอธิบดีกรมการปกครองย้ำว่า การดำเนินงานครั้งนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการยกเว้นเพียงแค่ค่าธรรมเนียมตามที่ราชการกำหนด ซึ่งในกรณีหนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร มีค่าใช้จ่ายเพียง 100 บาท และ ค่าจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย 60 บาท
ในส่วนของอำเภอที่มีผู้ที่อยู่ในระบบจะต้องดำเนินการแก้ไขสถานะทางทะเบียน หรือ แก้ไขปัญหาสัญชาติในครั้งนี้ กรมการปกครองได้จัดสรรงบประมาณรองรับ ถ้าในกรณีของผู้ที่อยู่ในระบบในแต่ละอำเภอนั้นๆ มีจำนวนมากจะมีงบประมาณลงไปให้กับทางอำเภอเพื่อให้การดำเนินการครั้งนี้สำเร็จ ไม่ติดขัดปัญหาใดๆ ยืนยันอีกครั้งว่า งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หากมีค่าใช้จ่าย หรือ มีใครก็ตามเรียกรับ หรือ ขอค่าบริการ หรือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในโครงการนี้ ขอให้ท่านได้แจ้งทางอำเภอนั้นๆ หากนายอำเภอไม่รับเรื่อง ก็ขอให้ติดต่อโดยตรงที่กรมการปกครอง
รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ