วิเคราะห์แอร์อินเดียตกเพราะสวิตช์น้ำมันถูกปิด สาเหตุเกิดจากอะไร?
ผลการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับอุบัติเหตุเครื่องบินแอร์อินเดียเที่ยวบินที่ 171 ตก ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 260 รายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กำลังชวนให้เกิดคำถาม เพราะเสียงสนทนาในห้องนักบินชี้ให้เห็นว่า สวิตช์ควบคุมน้ำมันของเครื่องบินดังกล่าวถูกเลื่อนไปที่ตำแหน่ง “ตัดเชื้อเพลิง” ซึ่งทำให้เครื่องยนต์ขาดเชื้อเพลิงและสูญเสียพลังงานทั้งหมด คำถามสำคัญก็คือ มันเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ หรือเกิดจากความผิดปกติของเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ลำดังกล่าวซึ่งมีอายุการใช้งานถึง 12 ปี
สวิตช์เชื้อเพลิงถูกสับลงในช่วงขึ้นบิน
บันทึกเสียงในห้องนักบินทำให้เราทราบว่า มีนักบินคนหนึ่งถามนักบินอีกคนว่าทำไมถึง “ตัดเชื้อเพลิง” นักบินอีกคนตอบว่า เขาไม่ได้ทำ แต่เสียงบันทึกไม่ได้ระบุชัดว่าใครเป็นคนพูดประโยคไหน แต่ขณะเครื่องบินขึ้น นักบินผู้ช่วยเป็นผู้ขับเครื่องบิน ส่วนกัปตันทำหน้าที่ควบคุมดูแล
หลังจากนั้นสวิตช์ถูกเลื่อนกลับไปยังตำแหน่งทำงานตามปกติ ทำให้ระบบจุดเครื่องยนต์ใหม่อัตโนมัติ โดยรายงานพบว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุเครื่องตก เครื่องยนต์หนึ่งกำลังฟื้นแรงขับ ส่วนอีกเครื่องแม้จะติดใหม่แล้วแต่ยังไม่สามารถฟื้นได้
แล้วเครื่องบินลำดังกล่าวก็อยู่บนอากาศไม่ถึง 40 วินาที ก่อนจะพุ่งตกใส่ย่านชุมชนหนาแน่นในเมืองอัห์มดาบัด ทางตะวันตกของอินเดีย
ทีมสอบสวนกำลังตรวจซากเครื่องบินและกล่องดำที่บันทึกบทสนทนาในห้องนักบิน เพื่อหาว่าเกิดอะไรขึ้นหลังเครื่องบินทะยานขึ้นไม่นาน ข้อมูลจากเว็บไซต์ Flightradar24 ระบุว่า เครื่องบินลำนี้ไต่ระดับขึ้นไปถึง ระดับ 625 ฟุตในสภาพอากาศปลอดโปร่ง ก่อนจะสูญหายจากข้อมูลตำแหน่ง
สวิตช์ดังกล่าวมีระบบความปลอดภัย ไม่ใช่แค่ไปชนแล้วจะปิดลงง่าย ๆ
การสอบสวนดังกล่าว ซึ่งนำโดยหน่วยงานของอินเดียร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากโบอิ้ง, เจอี, แอร์อินเดีย และหน่วยงานกำกับดูแลของอินเดีย รวมถึงคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) และผู้แทนจากสหราชอาณาจักร ได้ตั้งคำถามหลายประเด็น
ผู้สอบสวนระบุว่า สวิตช์ควบคุมเชื้อเพลิงจะมีคันล็อก ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการสับโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นจึงต้องดึงขึ้นก่อนถึงจะสามารถเลื่อนได้ ซึ่งเป็นมาตรการความปลอดภัยที่ใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 สวิตช์เหล่านี้ถูกสร้างตามมาตรฐานที่เข้มงวดและมีความน่าเชื่อถือสูง นอกจากนี้ยังมีโครงเหล็กป้องกันรอบสวิตช์เพื่อไม่ให้ถูกชนโดยไม่ได้ตั้งใจ
นักสืบอุบัติเหตุทางอากาศชาวแคนาดารายหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดึงสวิตช์ทั้งสองพร้อมกันด้วยมือเดียว การเปลี่ยนสวิตช์โดยไม่ได้ตั้งใจจึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้
ชอว์น พรูชนิกกี อดีตผู้สอบสวนอุบัติเหตุสายการบินและผู้เชี่ยวชาญด้านการบินแห่งมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ กล่าวว่า เรื่องนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมนักบิน ไม่ว่าจะเป็นคนใดก็ตาม ถึงสับสวิตช์ไปที่ตำแหน่งปิด มันเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือเพราะสับสนกันแน่ แต่นักบินก็ไม่ได้รายงานความผิดปกติใด ๆ
ปีเตอร์ เกิลซ์ อดีตกรรมการบริหารของคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) เห็นพ้องในประเด็นเดียวกันว่า สิ่งที่คณะสอบสวนค้นพบนี้น่ากลัวมาก เพราะนักบินกลับปิดสวิตช์เชื้อเพลิงภายในไม่กี่วินาทีหลังเครื่องขึ้นบิน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังระบุไม่ได้ว่าเสียงไหนเป็นของใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังเห็นพ้องด้วยว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการติดตั้งกล้องวิดีโอในห้องนักบินตามคำแนะนำของ NTSB เพราะมุมกล้องที่ถ่ายจากด้านหลังจะช่วยให้เห็นได้ชัดว่าใครเป็นคนเอื้อมมือไปที่สวิตช์ตัดเชื้อเพลิง
เคยมีรายงานสวิตช์ควบคุมเชื้องเพลิงของ โบอิ้ง 737 บางลำ กลไกล็อกไม่ทำงาน
ในเดือนธันวาคม 2018 สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้ออกประกาศข้อมูลพิเศษเกี่ยวกับมาตรการที่เหมาะสมเดินอากาศ (SAIB) ระบุว่า มีสวิตช์ควบคุมเชื้อเพลิงของเครื่องบินโบอิ้ง 737 บางลำที่ติดตั้ง โดยที่กลไกล็อกไม่ทำงาน
แม้จะมีการระบุปัญหานี้ แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นถูกจัดว่าเป็น “สภาพไม่ปลอดภัย” ที่จำเป็นต้องออกคำสั่งแก้ไข ซึ่งเป็นข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อแก้ไขสภาพที่ไม่ปลอดภัย
สวิตช์รุ่นเดียวกันนี้ถูกใช้ในเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 รวมถึงลำที่เกิดเหตุของแอร์อินเดีย หมายเลขทะเบียน VT-ANB ด้วย และเนื่องจาก SAIB เป็นเพียงคำแนะนำ แอร์อินเดียจึงไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบตามที่แนะนำ
อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้เชี่ยวชาญบางคนไม่เคยได้ยินรายงานนี้มาก่อน และเหมือนประกาศดังกล่าวจะไม่ได้รับการเผยแพร่มากนัก และปกติถ้านักบินเจออะไรผิดปกติ พวกเขาจะรายงานทันที
กัปตันคิชอร์ จินตา อดีตผู้สอบสวนของสำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางอากาศอินเดีย (AAIB) ตั้งข้อสงสัยว่าสวิตช์อาจตัดเองเพราะปัญหาจากระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบิน ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล
ผู้สอบสวนระบุว่า ลูกเรือพยายามกู้สถานการณ์ แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วเกินไป เมื่อเครื่องยนต์ถูกปิดแล้วเปิดใหม่ นักบินรู้ดีว่าเครื่องยนต์กำลังสูญเสียแรงขับ แต่เครื่องยนต์ขวาไม่มีเวลามากพอที่จะฟื้นกำลังกลับมาได้ และแรงขับที่เหลือก็ไม่เพียงพอ เมื่อเครื่องซ้ายถูกปิดแล้วเปิดก่อน แต่เครื่องด้านขวากู้ไม่ทัน มันก็สายเกินไปจึงทำให้เครื่องบินตก