‘ณพ ณรงค์เดช’ เเจงปมร้อน สินบนร้อยโล ยันไม่เกี่ยวข้อง ยังเข้าร้อง ป.ป.ป.สอบหาตัวการ โอดถูกอายัด กระทบธุรกิจ-ครอบครัว
‘ณพ ณรงค์เดช’ เเจงปมร้อน สินบนร้อยโล หลังมีหนังสือ รองอธิบดีศาลออกมา ระบุ ถูกเสนอปลดอายัดปันผลหุ้น ยืนยันไม่เกี่ยวข้อง ยังเข้าร้อง ป.ป.ป.สอบหาตัวการ โอดถูกอายัด กระทบธุรกิจ-ครอบครัว ยังเชื่อมั่น กระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (9 ก.ค. 68) ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ นายณพ ณรงค์เดช นักธุรกิจชื่อดัง เปิดแถลงข่าวถึงกระแสข่าวกรณีมี “ตุลาการระดับสูง 2 คนตกเป็นข่าวพัวพันสินบนร้อยโล” (100 ล้านบาท) และทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีความข้อพิพาทในครอบครัวณรงค์เดช ส่งผลให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาล และรองอธิบดีในศาลแห่งหนึ่ง เนื่องจากถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้คู่ความ
นายณพ กล่าวว่าขอขอบคุณที่เข้าร่วมรับฟังข้อเท็จจริงในวันนี้ หลังจากที่ตนได้แถลงผลของคำพิพากษาซึ่งให้ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีปลอมลายเซ็น โดยพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดี ตามหลักฐานที่ได้แถลงไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เนื่องจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่อง “ร้อยโล” ที่สื่อและสาธารณชนให้ความสนใจในวงกว้าง ตนจึงตัดสินใจที่จะขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยในประเด็นแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2565 ตนเองได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมการตุลาการ เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในคดีที่เกิดขึ้นในศาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมี 2 คดี หลัก ๆ ที่ศาลแห่งหนึ่ง คดีแรกโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์คืน และมีการขออายัดเงินปันผลแบบฉุกเฉิน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองตั้งแต่เดือน ส.ค.2563 ต่อมาศาลอุทธรณ์ ได้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวไปเมื่อ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565
หลังจากนั้นเพียง 8 วัน คือในวันที่ 19 พ.ค. 2565 ในระหว่างที่ตนดำเนินการขอรับเงินปันผล ได้มีการยื่นฟ้องในประเด็นเดียวกันว่าผิดสัญญา และเรียกทรัพย์คืน เพียงแต่เปลี่ยนตัวโจทก์เป็นบุคคลอื่นในกลุ่มเดียวกัน และศาลเดิมก็ได้พิจารณา และมีคำสั่งอายัดเงินปันผลทันทีอีกครั้ง และมีผลมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้วตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2566 แต่คำสั่งอายัดเงินปันผลยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้
โดยปัจจุบันเงินปันผลที่ถูกอายัดมีมูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท ซึ่งถ้านับตั้งแต่คดีแรก เงินก้อนนี้ถูกอายัดตั้งแต่ปี 2563 คำนวณดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากเงินปันผลนี้ คร่าว ๆ ประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายของตนเองเป็นผู้แบกรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว และได้รับผลกระทบทั้งทางธุรกิจ และส่งผลครอบครัวของตนด้วย
หลังจากมีคำพิพากษา ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้คำสั่งอายัดเงินมีผลต่อไป โดยศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกัน 100 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวน 100 ล้าน ตนและทุกคนทราบดีว่าเงินประกันศาลเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร
นายณพ กล่าวอีกว่าตนยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำสั่งอายัด โดยโจทก์ได้ขอคุ้มครองหุ้น ซึ่งอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของจำนวนเพียงประมาณ 31 ล้านหุ้น ส่วนอีก 10 ล้านหุ้นที่เหลือ โจทก์เองก็ยอมรับว่าเป็นหุ้นของตนแต่ศาลมีคำสั่งให้อายัดหุ้น 41 ล้านหุ้น ซึ่งมากกว่าคำขอของฝ่ายโจทก์ ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ฝ่ายตนจึงจำเป็นต้องยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการตุลาการ หรือ “ก.ต.” ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2565
จนล่าสุดวันที่ 28 มกราคม 2568 ตนเองได้ทราบจากสื่อมวลชนว่า ก.ต.มีมติที่ประชุมตั้งสอบวินัยร้ายเเรงต่อ 2 อดีตผู้บริหารศาลระดับ “อธิบดี-รองอธิบดีศาล” และต่อมายังได้มีคำสั่งพักงานอดีตอธิบดีของศาลคนดังกล่าวด้วย
นายณพกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่อง “ร้อยโล” เป็นหนังสือที่อดีตรองอธิบดีที่ถูกร้องเรียนส่งเข้าไปในสำนวนของ ก.ต. หลังจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ว่าได้รับการเสนอจากอธิบดีของศาลแห่งหนึ่งในเวลานั้น ซึ่งยังปรากฏหลักฐานว่าอธิบดีฯ ท่านนั้นมีการเข้าออกบ้านของคู่กรณีอีกด้วย
โดยเงิน “ร้อยโล” ในหนังสือของรองอธิบดีได้ระบุวันเวลาและสถานที่ที่ชัดเจน อยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2565 ในขณะที่เงิน 100 ล้านบาท ที่โจทก์นำมาวางเป็นเงินประกันศาล คือวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ร้อยโล” กับ “ร้อยล้าน” เป็นคนละวัน คนละเดือน คนละปี โดยข้อความในหนังสือของอดีตรองอธิบดี ทำให้ทราบว่ามีการเสนอสินบนร้อยโล ซึ่งตนก็ได้รับทราบเรื่องนี้จากสื่อเช่นเดียวกัน เพราะเรื่องที่ฝ่ายตนร้องเรียนไปไม่เกี่ยวกับเงินร้อยโล
นายณพ กล่าวว่ามากไปกว่านั้นหนังสือของอดีตรองอธิบดี ยังได้ยัดเยียดความผิดที่น่ารังเกียจนี้ให้กับตนว่ามีการให้สินบนเพื่อจะขอปลดคำสั่งอายัดเงินปันผลหุ้น ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นผู้ร้องเรียน ซึ่งกรณีนี้ตนได้ไปร้องทุกข์ กับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ไว้แล้วเพื่อให้ตรวจสอบหาตัวการเรื่อง “ร้อยโล”
“ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา ผมต้องตกเป็นจำเลยทั้งในคดีแพ่ง และคดีอาญาหลายคดี ก็ได้ใช้ความจริงและข้อเท็จจริงพิสูจน์ความถูกต้องตามระบบยุติธรรมมาโดยตลอด ผมยังเชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณา และไม่อยากให้ระบบยุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ต้องแปดเปื้อนเพราะคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์เหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้นกับประชาชนคนอื่นๆ อีก และอยากให้ระบบยุติธรรมของบ้านเราเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยต่อไป” นายณพ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดของเงิน 100 ล้านบาทที่วางประกันกับศาลเป็นวันใดบ้าง นายณพ ระบุว่า จากหนังสือของรองอธิบดีมีการกล่าวถึงเงิน 100 โล วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ขณะที่เงินวางประกันในศาลเกิดขึ้นวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ซึ่งชัดเจนว่าเป็นคนละเหตุการณ์
สำหรับคำถามว่าเงินปันผลจะได้รับคืนพร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ นายณพ กล่าวว่า จากการสอบถามที่ปรึกษาทางกฎหมายของตน หากเงินก้อนได้ปลดออกมา เราจะได้รับเพียงเงินต้นเท่านั้น เป็นเงิน 3,700 ล้านโดยประมาณ
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่ายืนยันหรือไม่ว่า เงิน 100 โล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอง นายณพ กล่าวว่า ตนยืนยันและขอเรียนว่าหากตนเป็นคนให้เงินก้อนนั้นจริง ๆ ตนคงไม่มาแจ้งความจับตนเองแน่นอน ส่วนคดีที่ไปร้อง บก.ปปป. อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่และตนได้ให้รายละเอียดทั้งหมดไปแล้ว และขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้เรียกใครเข้ามาสอบเพิ่มเติมหรือไม่
ส่วนสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้คือเรื่องลูกน้องของตน เพราะแน่นอนว่าตนมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายจนส่งผลกระทบต่อลูกน้องและคนในครอบครัว ตนจึงมีความเป็นห่วงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เรื่องดังกล่าวผ่านมานานตั้งแต่ช่วงโควิด 19 และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงส่งผลกระทบพอสมควร แน่นอนว่าการที่มีเรื่องลักษณะนี้เข้ามา ทำให้ตนต้องทำงานหนักขึ้นเป็นสองถึงสามเท่า อีกทั้งสองสามวันที่ผ่านมามีคนโทรศัพท์เข้ามาถามตนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก และเรื่องนี้ยังไม่ได้กระจายไปในวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ไม่เคยออกมาพูดเรื่องนี้เลย ในวันนี้ตนจึงต้องแถลงข่าวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนเป็นผู้เสนอสินบน
ทั้งนี้ นายณพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนมีปัญหากับบุคคลแค่ 2 คนเท่านั้น แต่กับองค์กรนั้นตนขอยืนยันว่าเป็นองค์กรที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่พึ่งของประชาชน เพียงแต่เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นความโชคร้ายที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา และคดีความต่าง ๆ ทุกศาลพิพากษายกฟ้องตนทั้งหมด