‘พิเชษฐ์’ ชิงปิดประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่ 2 หลังถกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน
ด้าน ‘ปูน-เบญจา’ ลุกแจงในฐานะผู้ต้องคดี ม.112 บอกประชาธิปไตยไทยจะไม่เบ่งบาน ถ้ายังดำเนินคดีคนเห็นต่าง
วันนี้ (9 ก.ค.68) นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือปูน ทะลุฟ้า ในฐานะผู้ชี้แจงในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับภาคประชาชน ได้ลุกขึ้นอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วาระ พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ซึ่งมี สส. และภาคประชาชนเสนอรวม 5 ฉบับ
นายธนพัฒน์ ระบุว่าตนเองเป็นประชาชนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ตนเองไม่เคยคิดว่าการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในฐานะเยาวชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 ตั้งแต่ตนศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และปัจจุบันตนเองมีคดีทางการเมืองติดตัวอยู่ 24 คดี และมีคดีมาตรา 112 จำนวน 3 คดี
ตนเองถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคง เป็นคนหัวรุนแรง เป็นเด็กนอกคอก เป็นอะไรก็แล้วแต่ที่พวกท่านจะตีตรา ทั้งที่ตนเองเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่อยากใช้สิทธิพลเมือง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและบ้านเมืองของเราดีขึ้น โดยหวังว่าวันหนึ่งพวกท่านจะหันมารับฟังความเห็นต่าง บางท่านบอกว่าพวกเราถูกชี้นำ ถูกชักจูงล้างสมอง ขอยืนยันว่าสิ่งที่พวกเราคิดและทำคือ การแสดงออกตามสิทธิพลเมือง เป็นการแสดงออกตามสังคมประชาธิปไตย
นายธนพัฒน์ ย้ำว่า การจะนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีความมาตรา 112 คือ การยุติความขัดแย้งเพียงครึ่งเดียวและจะไม่มีสันติภาพใดเกิดขึ้นได้จากความยุติธรรมที่เลือกข้าง
นายธนพัฒน์ เชื่อว่าการนิรโทษกรรมที่รวมคดีมาตรา 112 ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้กับคนเห็นต่าง แต่คือการฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม ฟื้นฟูประชาธิปไตยให้พวกเราที่เคยถูกตีตราว่าผิดได้กลับมาใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองอย่างเท่าเทียม ตนเองขอเรียกร้องไปยังผู้แทนราษฎร สส. ที่กล่าวว่าเห็นใจเยาวชนและประชาชนช่วยกันยกมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนที่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย
”ประชาธิปไตยจะไม่มีวันเบ่งบานในประเทศเรา ถ้าท่านยังปล่อยให้เยาวชนคนที่เห็นต่างทางความคิดถูกดำเนินคดีเพียงเพราะพวกเขามีความฝัน“
นางสาวเบญจา อะปัญ ผู้ชี้แจง กล่าวว่าการทำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจำเป็นต้องมีคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ซึ่งการบอกว่าผู้ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศใช้อภิสิทธิ์ ซึ่งตนเองจดบันทึกทุกวันว่าวันนี้เพื่อนเราหายไปหรือไม่ ซึ่งมีหลายคนในนั้น ไม่ได้มีสิทธิ์อะไรเลย การใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนไม่มีต้นทุน ไม่ได้ภาษา ดังนั้น จะมาบอกว่ามีอภิสิทธิ์ไม่ได้ แต่พวกเขาคือกลุ่มคนที่ไม่อยากต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม การขอศาลออกหมายเรียกพยานมันยากเย็น ดังนั้น จะเรียกว่ายุติธรรมสำหรับฝ่ายจำเลยอย่างพวกเราได้อย่างไร
นางสาวเบญจา กล่าวอีกว่า คนที่ติดคุกอยู่ และกำลังจะติดคุกก็เป็นเรื่องคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าจะสันติสุข หากไม่รวมคดีนี้เข้าไป จะสันติสุขแบบไหน จะสันติสุขเฉพาะพวกท่านหรือไม่ และถ้าบอกว่าอยากก้าวไปด้วยกัน เพื่อได้โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ ทำไมถึงไม่ให้โอกาสคนอย่างพวกเรา คนรุ่นใหม่ให้ก้าวผ่านไปด้วยกัน เหมือนกับคดีอื่น ๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่มีใครเปลี่ยนอดีตได้ แต่เราร่วมกันเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ตั้งแต่วันนี้
หลังจากนั้นนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ในฐานะประธานในที่ประชุมในขณะนั้นได้ระบุว่า เหลือผู้ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีก 3 ฉบับ ไว้มาพิจารณาต่อในสัปดาห์หน้าก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.09 น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ภายหลังสิ้นสุดการประชุม กลุ่มผู้ชี้แจงภาคประชาชน ได้ลุกขึ้นชูสามนิ้ว โดยมี สส. จากพรรคประชาชนบางส่วน อาทิ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ, นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพมหานคร, นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี และนางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ ร่วมให้กำลังใจ