ธปท.ชี้ภาษีทรัมป์ทุบจีดีพีไทยซึมยาว 1 ปีครึ่ง ส่งออกหดตัว 'ลงทุน-บริโภค' แผ่ว
ธปท. เผยแรงส่งเศรษฐกิจไทยแผ่ว ผล Tariffs ฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 2% ลากยาว 1 ปีครึ่ง คาดจีดีพีปี’69 เหลือ 1.7% ชี้ส่งออกครึ่งหลังปี’68 หดตัวรุนแรง กระทบการลงทุน-การบริโภคชะลอตัวตาม ย้ำจุดยืนนโยบายการเงินผ่อนคลาย มอง Policy Space สำคัญ หนุนเศรษฐกิจยืดหยุ่นทนทานรองรับช็อก
นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Monetary Policy Forum 2/2568” ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากนโยบายภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐนั้น มองว่าจะมีนัยระยะยาวค่อนข้างมาก หากพิจารณามิติความรุนแรงและมิติระยะเวลา จะเห็นว่าช็อกจาก Tariffs แตกต่างกันกับช็อกในรอบการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ที่มีความรุนแรงระยะสั้น และเป็นหลุมดิ่งลง ทุกอย่างชะงักงัน แต่ช็อกครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะมีการพูดถึงการขึ้นภาษีมาสักระยะแล้ว แต่ช็อกนี้จะทอดยาวไปถึงปี 2569
เศรษฐกิจไทยโตต่ำศักยภาพ 2% ลากยาวปีครึ่ง
โดยภาพรวมเศรษฐกิจมองไปข้างหน้า ธปท.ประเมินเศรษฐกิจปี 2569 ขยายตัว 1.7% ถือว่าค่อนข้างต่ำ เป็นภาพเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว และเป็นการเติบโตต่ำกว่า 2% ซึ่งเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ และจะโตต่ำไปอีก 1 ปีครึ่ง แม้ว่าในปี 2568 จีดีพีจะขยายตัว 2.3% จะเห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มาจากตัวเลขจริงที่ออกมาจากแรงส่งภาคการส่งออกที่ออกมาขยายตัวค่อนข้างสูง 12.6% ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.9-3%
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีจะเห็นการชะลอตัวค่อนข้างรุนแรง และมีความท้าทายค่อนข้างมาก จะมาจากภาคการส่งออกที่ลดลงรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 3/2568 เป็นต้นไป โดยคาดว่าการส่งออกครึ่งปีหลังจะหดตัว -4.0% และปี 2569 หดตัว -2.0% และจะกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่ำไม่ถึง 1% และส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคที่ชะลอตัวลงเหลือ 1.7% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ขยายตัว 3%
ย้ำพื้นที่นโยบายการเงินเป็นสิ่งสำคัญรองรับช็อก
ทั้งนี้ มองไปข้างหน้าสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจจะเกิดช็อกได้ ดังนั้น จุดยืนนโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง สามารถรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แต่มองไปข้างหน้า ธปท.พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่การทำนโยบาย (Policy Space) เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและทนทาน (Resilience) สามารถรองรับช็อกที่จะเกิดขึ้นยาวนานได้
“การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เรามีประเมินฉากทัศน์หลากหลายมาก ซึ่งตัวเลข Tariffs จะออกมาเท่าไรไม่สำคัญมาก หรือเศรษฐกิจไตรมาสจะขยายตัว -0.1% หรือ +0.1% เท่ากับทิศทางเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเรามองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่ดี และแผ่วลง
ซึ่งจีดีพีปี’69 เรามองที่ 1.7% ชะลอลงพอสมควร และขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ เพราะมีช็อกที่ทอดยาวเข้ามากระทบ เราไม่ตกเหวปีนี้ แต่ตกปีหน้า ดังนั้น การลดดอกเบี้ยอาจจะช่วยลดภาระหนี้ได้บ้าง แต่ไม่ได้เกิดการขอสินเชื่อใหม่ เพราะอุปสงค์ลดลง จึงต้องชั่งน้ำหนัก เพราะพื้นที่การทำนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเศรษฐกิจเข้าสู่ช็อกที่มีเยอะขึ้น การทำให้เศรษฐกิจมีความทนทานและยืดหยุ่นน่าจะดีกว่า”
เศรษฐกิจไทยไม่เกิด “ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค”
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs ต่อตลาดการเงินโลกและตลาดเงินไทยจากการติดตามาไม่ได้มีผลกระทบ แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดยปัจจุบันยังเห็นเศรษฐกิจไปได้ ไม่ได้สะดุดตามตัวเลขจริงที่ออกมา แต่มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจมีความท้าทาย เพราะ Tariffs มีผลทอดยาวกระทบต่อการส่งออก การลงทุน และการบริโภค ซึ่งสถานการณ์จะทอดยาวไปถึงปี 2569
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) เนื่องจากตัวเลขจะต้องติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาไทยเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิคเพียง 4 ครั้งเท่านั้น
ได้แก่ วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตการเงินโลก การชุมนุมใหญ่ที่มีการปิดสนามบิน และโควิด-19 ซึ่งการเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิคจะต้องการแรงกระแทกรุนแรงจากภายนอกประเทศ หรือในประเทศจะต้องเกิดเหตุการณ์รุนแรงมาก ซึ่งในปี 2568 และปี 2569 มองอัตราการเติบเฉลี่ยไตรมาสต่อไตรมาส (QOQ) ขยายตัว 0.1% ถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตปกติที่อยู่ 0.7-0.8%
รับประเด็นการเมืองเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นประเด็นที่ ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาปัจจัยทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จึงเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
“แรงกระแทก Tariffs ไม่กระทบรุนแรง และตกแรง ๆ เหมือนวิกฤตโควิด-19 แต่แรงกระแทกนี้จะทอดยาวไปยังเซ็กเตอร์ส่งออกไปสหรัฐ และผลจะทอดยาวไป เราจะไม่เห็นช็อกแบบสั้น ๆ ซึ่งเราได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ 700-800 ราย พบว่าอุปสรรคการทำธุรกิจคือต้นทุน ความสามารถในการแข่งขัน และความไม่แน่นอนเศรษฐกิจ เขาจะชะลอลงทุน
โดยที่ผ่านมา ธปท.ร่วมกับสภาพัฒน์ ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลบอกถึงผลกระทบจาก Tariffs และมาตรการรองรับระยะสั้นและยาว โดยเฉพาะผลกระทบรายเล็ก การจ้างงาน จากปัญหาสินค้านำเข้า การทุ่มตลาดเป็นต้น”
หลังแรงส่งเศรษฐกิจแผ่วยาวถึงปี’69
นางสาวบัณณรี ปัณณราช ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2568 พบว่าองค์ประกอบเศรษฐกิจหลายด้าน การผลิต การส่งออก การบริโภคในไตรมาสที่ 2/2568 ยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2568 จึงเป็นแรงส่งเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้ แต่มองไปข้างหน้า แรงส่งบางส่วนที่มีการเร่งไปก่อนหน้าจะปรับลดลง ทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2568 ขยายตัวเพียง 1.6% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.9% และในปี 2569 เติบโตเพียง 1.7% จากปี 2568 ขยายตัว 2.3%
“การเติบโตจะเห็นว่าต่ำกว่า 2% เป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ผลมาจากการส่งออกที่หดตัวรุนแรง และผลจาก Tariffs ที่จะต้องติดตามเป็นระยะ ๆ รวมถึงพัฒนาการการเจรจาการค้าที่จะเข้ามากระทบ”
ยันเงินเฟ้อต่ำ แต่ไม่ใช่เงินฝืด
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำมาจากหมวดราคาพลังงานและอาหารสด ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าอื่นลดลงตามเป็นวงกว้าง สะท้อนจากราคาสินค้าที่ประชาชนบริโภคเป็นประจำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2568 อยู่ที่ 0.5% และปี 2569 อยู่ที่ 0.8% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2568 อยู่ที่ 1.0% และปี 2569 อยู่ที่ 0.9% ซึ่งหากดูอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานในปี 2568 อยู่ที่ -3.2% และปี 2569 อยู่ที่ -1.3% จากค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% และอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดปี 2568 อยู่ที่ 1.2% และปี 2569 อยู่ที่ 1.6% จากค่าเฉลี่ย 1.7% ทั้งนี้ จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว และราคาสินค้าที่ยังสูงต่อเนื่อง ไม่สะท้อน “ภาวะเงินฝืด”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ธปท.ชี้ภาษีทรัมป์ทุบจีดีพีไทยซึมยาว 1 ปีครึ่ง ส่งออกหดตัว ‘ลงทุน-บริโภค’ แผ่ว
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net