“ลดไซส์เพื่อลดโรค” เปิดมุมมอง หมอปิแอร์ ผศ.นพ.สิระ กอไพศาล กับการดูแลโรคอ้วนแบบองค์รวม ที่มากกว่าแค่ตัวเลขบนตาชั่ง
Hello Magazine Thailand
อัพเดต 9 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 17 ชั่วโมงที่ผ่านมา • HELLO! Magazine Thailandหากพูดถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ ผศ.นพ.สิระ กอไพศาล หรือที่คนไข้คุ้นเคยในชื่อ หมอปิแอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวานและโรคอ้วน คือหนึ่งในบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางการดูแลที่ครอบคลุมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
“ผมมองว่าโรคกลุ่มนี้คือฟิลด์แห่งการเปลี่ยนแปลงครับ เราจะมีอะไรใหม่ ๆ ให้เรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยารุ่นใหม่ เทคโนโลยีการผ่าตัด หรือแนวคิดในการดูแลคนไข้แบบองค์รวม มันเป็นฟิลด์ที่ไม่หยุดนิ่ง และมีคนในสังคมเรามากมายที่เผชิญกับปัญหานี้ ที่นอกจากจะเป็นเรื่องโรคแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจด้วยครับ“
“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 40–50 ปีก่อน คนยังต้องเดินไปตลาด ทำกับข้าวเอง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ผมจำได้ว่าสมัยเรียนแพทย์ ผมยังต้องเดินไปซื้อข้าวกินเองอยู่เลยครับ แต่เดี๋ยวนี้อยากกินอะไรแค่เปิดแอป ทุกอย่างก็เสิร์ฟถึงบ้านหมดแล้ว ไลฟ์สไตล์เราเปลี่ยนไปเยอะมากจริง ๆ และทั้งหมดนี้มีผลต่อสุขภาพโดยตรงครับ”
หมอปิแอร์ ย้ำว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับ ‘โรคอ้วนเชิงโครงสร้าง’ ซึ่งไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลรวมจากสิ่งแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ และระบบที่เอื้อต่อพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ “คำถามที่ได้ยินบ่อยคือ ‘ทำไมกินเหมือนเดิม แต่น้ำหนักเพิ่ม?’ คำตอบง่ายที่สุดคือ ‘คุณในวันนี้ไม่ใช่คุณเมื่อ 5 ปีก่อน’ เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้น ระบบเผาผลาญจะช้าลง มวลกล้ามเนื้อน้อยลง และนั่นทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง แม้จะกินเท่าเดิมก็ตาม”
เข้าใจ BMI และสัญญาณอ้วนลงพุง
หนึ่งในวิธีที่คุณหมอแนะนำให้ใช้ประเมินตนเองเบื้องต้นคือค่า BMI (Body Mass Index) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักหารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง โดยเกณฑ์สำหรับคนเอเชียคือ ถ้า BMI มากกว่า 25 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์โรคอ้วนแล้ว
“นอกจาก BMI แล้ว ผมชอบให้คนไข้ดูรอบเอวด้วยครับ เอาง่าย ๆ เลย ถ้าคุณสูง 160 ซม. รอบเอวไม่ควรเกิน 80 ซม. ถ้าเกินแสดงว่าคุณกำลังอ้วนลงพุง ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับโรคหัวใจ เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง”
แม้ตัวเลขจะมีความสำคัญในทางการแพทย์ แต่สำหรับคุณหมอปิแอร์แล้ว เป้าหมายสำคัญของการดูแลผู้ป่วย คือสุขภาพที่ดีในภาพรวม ไม่ใช่แค่ตัวเลขบนเครื่องชั่งน้ำหนัก
“เราไม่ได้รักษาน้ำหนักตัวครับ เรารักษาความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นตามมา เราลดไซส์เพื่อลดโรค ไม่ใช่เพราะอยากให้คนผอมลง แต่เพื่อลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ตามมา เช่น เบาหวาน ความดัน ไขข้อ หรือแม้แต่ภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง”
เจนใหม่คูณสอง คือคำตอบ
ในแง่แนวทางการดูแล คุณหมอปิแอร์ใช้แนวคิดเรียบง่ายแต่ได้ผลจริง “ผมแนะนำให้ตั้งเป้าหมายที่จับต้องได้ เช่น ลด 1 กิโลกรัมใน 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องรีบ เพราะถ้าเป้าหมายสูงเกินไปแล้วทำไม่ได้ มันจะพังกลางทาง” คุณหมอยังเน้นว่า
“อย่าทำคนเดียว เพราะความสำเร็จในการลดน้ำหนักแบบยั่งยืนต้องอาศัยทั้งทีมแพทย์และที่สำคัญคือความเข้าใจในตนเองของผู้ป่วย”
“ผมเรียกแนวทางนี้ว่า เจนใหม่คูณสองครับ คือควบคุมอาหาร + ออกกำลังกาย หรือ ปรับพฤติกรรม + ใช้ยาอย่างเหมาะสมร่วมกัน ซึ่งจะให้ผลดีกว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่ง”
คุณหมอปิแอร์เสริมว่า ปัจจุบันมีทั้งยาที่ช่วยควบคุมฮอร์โมนความหิวและความอิ่ม รวมถึงเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ปลอดภัยขึ้นมาก เช่น การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้สามารถเสริมแนวทางการรักษาได้เป็นอย่างดี “เครื่องมือเหล่านี้เป็นผู้ช่วย แต่สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญที่สุด คือไลฟ์สไตล์ที่ต้องเปลี่ยนจริงจังและต่อเนื่อง”
โดยแนวทางการใช้ยาเพื่อควบคุมน้ำหนัก ควรอยู่ภายใต้การประเมินและคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
“การดูแลน้ำหนักตัวและสุขภาพไม่ใช่การวิ่งระยะสั้นครับ แต่เป็นเหมือนการวิ่งผลัดมาราธอน เราไม่ได้วิ่งคนเดียว แต่มีทีมที่คอยส่งไม้ต่อให้กัน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทาง นักกำหนดอาหาร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจ ทุกคนมีบทบาทเพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือความต่อเนื่อง ไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีไหน ถ้าหยุดทำ น้ำหนักก็กลับมาอยู่ดี เป้าหมายจึงควรเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้จริงในระยะยาว ไม่ต้องสุดโต่ง แต่ขอให้สม่ำเสมอ”
สำหรับใครที่พยายามมาหลายครั้งแต่ยังไม่เห็นผล คุณหมอปิแอร์มีคำแนะนำง่าย ๆ ว่า “อย่าเพิ่งท้อครับ คุณอาจแค่ยังไม่เจอวิธีที่เหมาะกับตัวเอง ลองหาแรงบันดาลใจใกล้ตัว ไม่ต้องเป็นดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ อาจเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานที่เขาทำได้จริง ๆ แล้วเชื่อเถอะครับว่าคุณก็ทำได้เหมือนกัน และคุณไม่ได้อยู่คนเดียว”