หอการค้าไทยชี้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำกว่า 1% หากภาษีสหรัฐฯ ค้างอยู่ภาษี 36% ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 28 เดือน
หอการค้าไทยเผยเศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำกว่า 1% ในปีนี้ หากภาษีสหรัฐฯ คงอยู่ที่ 36% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2568 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน จากปัจจัยการเมืองและปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
วันนี้ (9 กรกฎาคม) รศ. ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ 52.7 “ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ทุกรายการ และต่ำสุดในรอบ 28 เดือน”
ทั้งนี้ ดร. ธนวรรธน์ชี้ว่า การสำรวจส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่สถานการณ์การเมือง และความขัดแย้งระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชากำลังรุนแรง จึงทำให้ค่าความเชื่อมั่นที่สะท้อนออกมา ยังไม่ปรากฏผลกระทบของสงครามการค้า ซึ่งคาดว่าจะมีแรงกระแทกออกมาให้เห็นในเดือนต่อไป
หวั่นภาษี 36% กด GDP โตต่ำกว่า 1%
สำหรับประเด็นสงครามการค้า ดร. ธนวรรธน์กล่าวว่าไทยยังมีโอกาสบรรลุข้อตกลงภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 36% เนื่องจากสหรัฐฯ ยังเปิดช่องทางให้เจรจาได้ถึงวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ดร. ธนวรรธน์มองว่า หากไทยยื่นข้อเสนอเว้นภาษีให้สหรัฐฯ 0% สำหรับสินค้าหลายรายการ จะทำให้วัตถุดิบและเครื่องจักรส่วนใหญ่ ซึ่งไทยพึ่งพาการนำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นมาแต่เดิม ถูกแทนที่โดยสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจไทยส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบในภาคสินค้าเกษตรบางรายการ ซึ่งต้องจับตาต่อไปดูว่าทีมเจรจาของไทยจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอัตราภาษีเท่าไร
โดยหอการค้าไทยประเมินว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอยู่ในอัตรา 1.7% ปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากไทยต้องเผชิญอัตราภาษี 36% ที่เริ่มเก็บตั้งแต่ 1 สิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี คาดว่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท และมีโอกาสที่ GDP ไทยจะโตต่ำกว่า 1%
อย่างไรก็ตาม ดร. ธนวรรธน์มองว่านับเป็นข้อดีที่ไทยถูกเลื่อนเก็บภาษีไปอีก 3 สัปดาห์ ทำให้ไทยสามารถวางแผนสำรอง ออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบได้บ้าง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากไทยถูกเรียกเก็บโดยสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษี 20-36% คาดว่าจะสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 400,000-600,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งดร. ธนวรรธน์ระบุว่า จำเป็นต้องรอตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม จึงจะสามารถประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น
เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงเงื่อนไขการเจรจา ‘Trans-Shipment’ ดร. ธนวรรธน์กล่าวว่า จำเป็นต้องนิยามคำดังกล่าวกับทางสหรัฐให้ชัดเจน ว่าหมายถึงอะไรได้บ้าง เช่น เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นับเป็น ‘Trans-Shipment’ ไหม หรือ การที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาถือหุ้นข้างมากและมีสัดส่วนการลงทุนเกิน 50% นับด้วยหรือเปล่า
เช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ว่านิยามครอบคลุมแค่ไหน ซึ่งไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ หมายถึงการเป็นสมาชิกถาวรอย่างเดียวหรือไม่ ซึ่งไทยเป็นแค่หุ้นส่วนจะถูกนับรวมด้วยหรือเปล่า
ภาคธุรกิจส่งเสียงเรียกร้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
หอการค้าไทยเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม 46.7 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ในระดับ 48.1 ซึ่งส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ต่างจากเมื่อช่วงต้นปี ที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะฟื้นตัวขึ้นได้
ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อ และการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงดูแลสภาพคล่องของธุรกิจ และดูแลมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสีย
จากผลกระทบจากอัตราภาษี 36% ที่คาดไว้ราว 200,000 ล้านบาท อาจทำให้งบกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 157,000 ล้านบาทดูไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ดร. ธนวรรธน์มองว่า ควรพิจารณาที่ความเร็วในการไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของงบประมาณดังกล่าวแทน
ซึ่งดร ธนวรรธน์มองว่าหากภาครัฐนำเงินอีก 40,000 ล้านที่ยังเหลืออยู่ ไปดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนและมีเม็ดเงินสะพัดเร็ว กับอีกส่วนหนึ่ง นำไปช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งดร. ธนวรรธน์เชื่อว่า เป้าหมายนักท่องเที่ยว 35 ล้านคนยังเป็นไปได้ เนื่องจากครึ่งปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวแล้ว 16 ล้านคน