โบรกคาด ‘กลุ่มนิคมฯ’ ฟื้นเด่น รับแรงหนุน ‘ต่างชาติ’ ย้ายฐานผลิต หวังหนีภาษีทรัมป์
แม้ภาพรวม “เศรษฐกิจโลก” จะยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จากปม “สงครามการค้า” ระหว่างประเทศมหาอำนาจ แต่ “กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม”ในประเทศไทยยังคงเป็นธีมลงทุนที่น่าจับตาในระยะกลางถึงยาว ด้วยปัจจัยหนุนทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน และกระแส“การย้ายฐานการผลิต”ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อ “จีน” เผชิญแรงกดดันจากภาษีนำเข้าสหรัฐที่สูงขึ้น
“ไทยมีภูมิศาสตร์ที่ดี เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย” นี่คือ มุมมองของบรรดานักวิเคราะห์ ที่มองภาพใหญ่ของกลุ่มนิคมฯ โดดเด่น สะท้อนจากราคาหุ้นวานนี้ (30 มิ.ย.2568) ปรับตัวขึ้น ประกอบด้วย บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) อยู่ที่ 3.16 บาท เพิ่มขึ้น 2.60% บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) อยู่ที่ 14.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.70% บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) อยู่ที่ 4.36 บาท ลดลง 0.91% โดยระหว่างวันทำราคาสูงสุดอยู่ที่ 4.40 บาท และบมจ.ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค (PIN) อยู่ที่ 4.08 บาท เพิ่มขึ้น 0.49%
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมยังคงเป็นธีมที่ “น่าสนใจ” ในระยะกลางถึงยาว เนื่องจากประเทศไทยมีจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ที่ดี เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย และการเติบโตส่วนใหญ่ยังอยู่ในภูมิภาคนี้ แต่ทว่าในระยะสั้นอาจจะมีความไม่แน่นอนจากการเจรจาการค้า ดังนั้น การพิจารณาในหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมควรพิจารณาในธุรกิจอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น การกระจายลงทุนไปยังเวียดนาม หรือมีธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจที่ไม่พึ่งพิงนิคมอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว เป็นต้น
โดยหุ้นในกลุ่มที่น่าสนใจคือหุ้น AMATA และ WHAเนื่องจากราคาได้ปรับตัวลงมาก่อนหน้านี้แล้วหากดูในแง่ Valuation ได้ซึมซับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าไปในระดับหนึ่งแล้ว นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อหุ้นได้ โดยอาจแบ่งไม้ซื้อเป็นบางส่วนก่อน และอีกส่วนหนึ่งอาจรอความชัดเจนจากการเจรจาการค้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่าง “สหรัฐกับจีน” ยังคงเป็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง โดยช่วงต้นเดือนก.ค. จะครบกำหนด 90 วันที่สหรัฐผ่อนปรนเรื่องภาษี ซึ่งจะต้องจับตาดูว่าผลการเจรจาในครั้งนี้ ซึ่งเทียบกับคู่ค้าหรือคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม หรือจีน ที่มีศักยภาพแข่งขันกับไทย หากไทยมีสถานะหรือผลกระทบภาษีที่ต่ำกว่าจีนจะถือเป็นข้อดี แต่ยังคงต้องเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วยที่เป็นเป้าหมายที่อาจมีการกระจายฐานผลิตมายังประเทศอื่น ๆ ซึ่งต้องมาลุ้นกันด้วยในภูมิภาค หรือประเทศเพื่อนบ้านจะได้ภาษีอยู่ที่ระดับเท่าใด แต่คาดจีนจะได้รับผลกระทบมากกว่า หรืออัตราภาษีสูงกว่า 20% ขึ้นไป ทำให้มีขยายการผลิตออกไปยังประเทศอื่น ๆ
นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์บล.พายกล่าวว่า ภาพรวมหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมดูดีขึ้น จากก่อนหน้านี้ สถานการณ์พลิกผันเมื่อ “โดนันด์ ทรัมป์” ขึ้นภาษีกับทุกประเทศ ทำให้กลุ่มนิคมฯ ทั้ง WHA และ AMATA ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก
ซึ่งปัจจุบันภาพรวมเริ่มดีขึ้น เนื่องจากการส่งสัญญาณของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของไทย ที่เตรียมเข้าเจรจากับสหรัฐ ทำให้กลุ่มนิคมฯ มีความหวังเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสุดท้ายแล้วไทยจะโดนภาษีเท่าใด หากกรณีดีที่สุดไทยโดนภาษี 10% และประเทศอื่นๆ โดนภาษีมากกว่า 10% ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกลุ่มนิคมฯ อย่างแน่นอน แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่ทราบผลที่ชัดเจน รวมทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอาจขยายระยะเวลาของ Reciprocal Tariff ออกไปอีกก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเสริมว่า กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมยังคงมีการเติบโตอยู่จากยอดขายที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ไทยได้รับความนิยมในฐานะเป้าหมายการลงทุน Data Center เนื่องจากมีระบบสำรองไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมหลายอย่าง
อย่างไรก็ตาม มูลค่าที่นักลงทุนจะให้กับหุ้นกลุ่มดังกล่าวอาจปรับตัวลดลง จากเดิมที่ให้พี/อีที่สูงแต่ต่อไปตลาดอาจลดระดับพี/อีลง จากในอดีตกลุ่มนิคมฯ เคยมีพี/อีสูงถึง 10-12 เท่า แต่ในอนาคตอาจจะอยู่ที่ประมาณ 10 เท่า หรือไม่เกิน 12 เท่า และอาจลดลงเหลือเพียง 9 เท่า ในบางกรณี ซึ่งขึ้นอยู่กับบรรยากาศความรุนแรงทางภูมิรัฐศาสตร์และความอ่อนไหวต่อการย้ายฐานผลิต
ทั้งนี้ แม้รายได้หลักของกลุ่มนิคมฯ มาจากการขายที่ดินในช่วงที่ผ่านมามีกำไรดีซึ่งเป็นต้นทุนเก่า แต่ในอนาคตต้นทุนที่ดินในมือจะเริ่มเป็นของใหม่ ทำให้ Cross Margin อาจเริ่มลดลง หากไม่สามารถขึ้นราคาที่ดินได้เร็วพอ ยังคงแนะนำซื้อหุ้น WHA และ AMATA