ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง กกต.เอื้อ “ภูมิใจไทย-เนวิน” พัวพันฮั้ว สว.
(1 ก.ค. 68) ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดี เรื่องพิจารณาที่ 16/2568 กรณีนายณฐพร โตประยร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” (ผู้ถูกร้องที่ 1) และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญและกุฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และเอื้อประโยชน์ให้พรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 3) กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 4) สมาชิกวุฒิสภา รายชื่อปรากฏตามสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 5) นายเนวิน ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 6) นางกรุณา ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 7) นายทองเจือ ชาติกิจเจริญ กับพวก (ผู้ถูกร้องที่ 8 นายศุภชัย โพธิ์สุ (ผู้ถูกร้องที่ 9) นางสาววาริน ชิณวงศ์ (ผู้ถูกร้องที่ 10) นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ (ผู้ถูกร้องที่ 11) และนายสุบิน ศักดา (ผู้ถูกร้องที่ 12)
ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตในกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ผู้ถูกร้องที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการวางแผนและควบคุมกระบวนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ทำให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 138 คน และสำรองอีก จำนวน 2 คน อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้ถูกร้องที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 12 เป็นผู้ดำเนินการตามแผนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว อันเป็นผลให้ผู้ถูกร้องที่ 5 ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยความไม่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ชื่อสัตย์สุจริต และไม่เป็นเป็นไปตามกฎหมายการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 มีความเชื่อมโยงกันและร่วมกันทำเป็นขบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อใช้อำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมีได้เป็นไปตานวิถีทางที่บัญญัติไว้ไปรัฐธรรมนูญ
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว และสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 5 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย (รายชื่อตามสำนวนการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) หยุดปฏิบัติหน้าที่นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเพิ่มเติมและเอกสารประกอบ ปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาและความผิดทางอาญา การกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้การตรวจสอบและดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้องตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย