“หมอวรงค์” ระบุคดี “ทักษิณ” ป่วยวิกฤติ ใกล้จบแล้ว
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 4.41 น. • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทศาลฎีกา 15 ก.ค.-“ชาญชัย” เผยพบพิรุธหลังไต่สวนพยาน 6 ปาก เตรียมเปิดหลักฐานค่ารักษา “ทักษิณ” ชี้ไม่ควรปิดกั้นสื่อในการทำข่าว ด้าน “หมอวรงค์” ระบุคดีนี้ใกล้จบแล้ว
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี และนายสมชาย แสวงการ อดีต สว. มาฟังศาลไต่สวนคดีนายทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก แต่ไม่ได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ และถูกส่งไปพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่าวันนี้มีการไต่สวนมีทั้งหมด 6 ปาก ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ระดับผู้บัญชาการเรือนจำ ของกรมราชทัณฑ์ มีสิ่งที่ศาลไต่สวนข้อเท็จจริง พบมีพิรุธเยอะมาก รวมทั้งแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งโยงไปถึงโรงพยาบาลตำรวจด้วย ซึ่งตนได้ยื่นเรื่องกับสื่อมวลชนในฐานะที่เป็นผู้นำเรื่องมาเสนอที่มีความปรากฏต่อศาลจนกระทั่งมีการไต่สวน รวมถึงทนายความของนายทักษิณ ที่บอกว่าไม่ได้ติดค้างอะไร แต่ก็พยายามที่จะปิดปากไม่ให้สื่อฯ ลงข่าวข้อเท็จจริง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องของการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ให้สื่อมวลชนเสนอข้อเท็จจริง ในวันนี้ก็ขอให้ศาลเปิดเผยข้อมูล คือให้อยู่ในกรอบภาพรวมที่สามารถอธิบายได้ ซึ่งเรื่องนี้หากเป็นตนจะขอให้เปิดข้อมูลทั้งหมดเลย เพื่อพิสูจน์ความจริงที่บอกว่าตนเองไม่ผิด ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจว่าไม่ผิด ซึ่งหากความจริงปรากฏจะเสียวไส้กับคนที่ไปช่วยนายทักษิณ มีโอกาสที่จะติดคุกแทน และตนฟังดูว่าเหมือนเอาคนอื่นไปติดคุกแทน เพราะเป็นคนพานายทักษิณ ไปนอนโรงพยาบาล โดยไม่ใช่นายทักษิณ เป็นคนสั่งไป
ทั้งนี้ในอาทิตย์หน้าจะนำใบเสร็จการรักษาพยาบาลมาเปิดเผย ว่า ทำไมถึงเป็นชื่อของนายทักษิณ ที่จ่ายเงิน และเป็นนายทักษิณ ที่รู้ว่าไม่ได้ป่วย ซึ่งความจริงจะปรากฏอาทิตย์หน้า ตนจะเปิดเผยให้สังคมรับรู้ว่านายทักษิณ โกหกประชาชนอย่างไร และต้นตอของเรื่องนี้ทั้งหมด รวมถึงทำให้เกิดความวุ่นวาย ต้องเป็นขบวนการที่ทำให้เสียเวลา รวมถึงกระบวนการนี้ถ้าไม่ถูกเปิดเผยถึงสังคมการเรียนรู้ของสังคมไม่ครบถ้วนจะขาดตอน เพราะฉะนั้นศาลก็ระมัดระวังให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย วันนี้อาจจะมองไม่อยากให้สื่อนำไปลงรายละเอียดกระบวนการของศาลเวลาสืบพยาน ทำให้พยานคนต่อไปรู้ว่าคนก่อนพูดอะไรไว้ ซึ่งก็ต้องเห็นใจศาลเหมือนกัน
ด้านนายแพทย์วรงค์ เผยว่า เราได้แบ่งออกมาเป็นสองชุด คือชุดแรกที่เกี่ยวกับกรมราชทัณฑ์โดยเฉพาะ คืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดี รวมถึงผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ชุดสองคือเรื่องแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งไฮไลท์ในวันนี้แทบจะน็อคทั้งหมด เพราะเกมทุกอย่างได้รับการเปิดเผย เป็นบทสรุปที่ถูกเปิดเผยว่านักโทษที่ถูกส่งตัวอ้างว่าวิกฤติ ป่วยด้วยโรคหัวใจ ฟังประเมินแล้วประมาณสองวัน อาการทุเลาถือว่าอาการดีขึ้น และโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีเสรีภาพในการรักษา ซึ่งในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 อาการของนายทักษิณ ทุเลาลง รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษานายทักษิณ โรงพยาบาลมีศักยภาพพอ
ส่วนของราชทัณฑ์ ศาลได้ซักถามข้อมูลถึงใบรับรองแพทย์ราชทัณฑ์ 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ซึ่งพยายามซักถามว่าคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจให้นักโทษกลับมาอยู่เรือนจำ หรือโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นใคร เพราะฝ่ายหนึ่งได้อ้างว่าเป็นอำนาจของฝ่ายราชทัณฑ์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเท่าที่ศาลสั่งให้เปิดนั้นก็เป็นอำนาจของแพทย์ กลายเป็นว่าโยนกันไปกันมา แต่มีจุดพิรุธที่สังเกต คือวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก่อนที่นักโทษจะมีการส่งตัวหรืออาการวิกฤตในเวลาสี่ถึงห้าทุ่ม ช่วงเย็นมีการทราบอยู่แล้วว่ามีเอกสารออกมาให้มีคำสั่งเตรียมพร้อม นั่นหมายความว่ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการส่งตัวนักโทษในคืนนั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการซักถามกัน
และประเด็นที่น่าสนใจคือ ศาลพยามซักว่าการไม่รับนักโทษกลับแสดงว่ามีอาการหนักใช่หรือไม่ และศาลได้สอบถามว่าทำไมจึงป่วยหนักต่อเนื่องกัน 181 วัน และวันรุ่งขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 อาการหายแล้วหรือไม่ ทำให้เดินทางกลับบ้านได้ทันที ซึ่งศาลพยายามสอบถามถึงประเด็นนี้และตนมองว่ากรมราชทัณฑ์น่าจะลำบากใจ
ส่วนนายแพทย์วรงค์ กล่าวอีกว่า ในภาพรวมถือว่าภาพของคดีนี้น่าจะใกล้จบแล้ว และเชื่อว่าสัปดาห์ถัดไป ทั้งนายสมชาย หรือนายชาญชัย อาจจะมีเอกสารหลักฐานที่บอกว่ามีการโกหกให้ข้อมูลเท็จต่อศาลและมีหลักฐานเก็บไว้ ซึ่งถึงเวลาในการเปิดเผย และในวันนี้ศาลได้มีการซักถามอธิบดีราชทัณฑ์ในการรักษาตัวนอกเรือนจำรวมทั้งผู้บริหารทุกระดับว่าใช้กฎหมายข้อไหน
ด้านนายสมชาย เผยว่า การรักษาตัวภายนอกสามารถทำได้ เพราะส่วนใหญ่ไปเช้า เย็นกลับ เกิน 30 วันก็มีบ้าง เกิน 60 วันก็มีบ้าง เกิน 120 วันก็มีบ้าง ซึ่งตามรายงานและที่ส่งมาที่ศาลนั้นชัดเจนว่ามีผู้ป่วยเกิน 120 วันอยู่ 3 ราย ในขณะที่ชี้แจงต่อคณะกรรมการ ซึ่งคือป่วยจิตเวช ส่วนป่วยวิกฤตอาการดีขึ้น หรือทุเลาลงแล้ว ก็ต้องส่งกลับเรือนจำ ซึ่งมีการบอกว่าเป็นคำวินิจฉัยของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ก็ต้องรอฟังคำวินิจฉัยเอง ว่าเหตุใดราชทัณฑ์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมบังคับโทษตามที่ศาลออกหมายขัง จึงไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง และอ้างว่าแพทย์ไม่สั่งให้กลับเพราะอำนาจของกรมราชทัณฑ์นั้นไม่มี.-314.-สำนักข่าวไทย