ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุต้องปรับตัวรับ tariff ชี้ปรับจีดีพีหรือไม่ รอผลเจรจาไทยสหรัฐ
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 17 กรกฎาคม 2568 เวลา 1.14 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 16 ก.ค. -ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ tariff กระทบทั้งกลุ่มส่งออก-กลุ่มนำเข้า-กลุ่มเอสเอ็มอี เชื่อเป็นโอกาสสำคัญในการปรับตัวระยะยาว ชี้ปรับจีดีพีหรือไม่ รอผลเจรจาไทยสหรัฐ ย้ำนโยบายการเงินไม่ได้มีแค่ปรับดอกเบี้ยเท่านั้น
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ (Tariff) ว่าขณะนี้เราเริ่มเห็นผลการเจรจาของประเทศต่างๆ ทยอยออกมา สะท้อนให้เห็นว่าการที่ไทยจะเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมีความสำคัญ และเมื่อมีรายละเอียดต่างๆออกมาก็ต้องมีมาตรการต่างๆออกมารองรับ โดยต้องคำนึงถึงการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ หาวิธีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และสิ่งสำคัญที่ไม่อยากให้ละเลยคือจะปรับตัวอย่างไรสำหรับอนาคต ส่วนมากเราจะเน้นระยะสั้นแล้วลืมระยะยาวครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่เราต้องปรับตัวไม่ใช่เน้นแค่เรื่องตัวเลขส่งออก ตัวเลขลงทุน
ส่วนกรณีที่อินโดนีเซียถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 19% และเวียดนามถูกเรียกเก็บในอัตรา 20% และไม่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ มองว่า แต่ละประเทศต้องดูสถานการณ์ของตนเอง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าขณะนี้ รายละเอียดหลายอย่างยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่อง การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Transshipment) จะส่งผลกระทบมาก อย่างเวียดนาม ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าอะไรจะนับเป็น Transshipment ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนอย่างมากและส่งผลต่อประเทศไทย จึงต้องรอรายละเอียดให้ชัดเจน
สำหรับผลกระทบจาก Tariff จะมาจากหลายช่องทาง ทั้งกลุ่มสินค้าส่งออก หากเราไปเจรจาเปิดตลาดก็จะกระทบต่อกลุ่มที่ลดภาษีนำเข้า และอีกกลุ่มที่ ธปท.มีความเป็นห่วงคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าทะลักเข้าไทยจากการที่ส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ จึงมีความเปราะบางสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐที่มีกลุ่มบริษัทข้ามชาติในสัดส่วนที่สูงกว่า
ทั้งนี้ มาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ที่ต้องหันหน้าเข้าหากันซึ่งเราได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องถึง ไม่ได้พูดคุยกันเฉพาะในระยะสั้น แต่มองไปถึงการปรับตัวในระยะยาว ส่วนจะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจหรือไม่นั้นคงต้องรอผลการเจรจาของทีมไทยแลนด์
ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาท มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการเตรียมการรับมือในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมย้ำว่านโยบายการเงินไม่ได้มีแค่เฉพาะเรื่องดอกเบี้ยเท่านั้น
สำหรับกรณีการเข้าถึงสินเชื่อยากและมีการเรียกร้องให้ ธปท. ปรับเกณฑ์การขอสินเชื่อนั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้มาจาก ธปท. ยอมรับว่ามีกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อแต่หลักๆ มาจากความเสี่ยงที่สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์มองว่ามีความเสี่ยงสูงจึงไม่ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการแก้ไขต้องไปแก้ที่ต้นเหตุคือความเสี่ยง เช่น การค้ำประกันสินเชื่อผ่านกลไกของ บสย. หรือกลไกอื่นๆ เพื่อช่วยให้การเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามมองว่าอาจจะต้องมีการทบทวนว่าสัดส่วนการค้ำประกันเหมาะสมหรือไม่จากปัจจุบันที่ความเสี่ยงต่างๆเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะนโยบายการเงิน แต่ยังมีเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันจึงต้องปรับตัวเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้นเพราะหากธุรกิจแข่งขันไม่ได้จะให้สินเชื่อแก้ปัญหาก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหากเราเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเชื่อว่าสถาบันการเงินต่างๆก็พร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อ.-516.-สำนักข่าวไทย