หุ้นไทยต่ำบุ๊ก Deep Value โอกาสนี้น่าสนใจจริงไหม ?
หุ้นไทยต่ำบุ๊ก Deep Value โอกาสนี้น่าสนใจจริงไหม ?
หนึ่งในความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ก็คือเรื่องของ Valuation โดยเฉพาะในแง่ของมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) ปัจจุบัน SET Index มีอัตราส่วน P/BV ใกล้เคียง 1 เท่า อีกทั้งยังมีหุ้นชั้นนำหลายตัวที่ซื้อ-ขายกันต่ำกว่าบุ๊ก
Book Value per Share เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่นิยมนำมาวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อดูว่าหุ้นตัวนั้น “ถูกหรือแพง” ด้วยการเปรียบเทียบกับราคาหุ้น ณ ขณะนั้น กับมูลค่าทางบัญชี (Book Value) มาจากมูลค่าของสินทรัพย์สุทธิ ตามงบดุลล่าสุดของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ดังนั้น มูลค่าทางบัญชีจะเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับหากบริษัทตัดสินใจที่จะเลิกกิจการ โดยคำนวณได้จากการนำสินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินรวม
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดเท่ากับ 100 ล้านบาท และมูลค่าหนี้สินทั้งหมดเท่ากับ 80 ล้านบาท แปลว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัทจะเท่ากับ 20 ล้านบาท หรืออีกนัยหนึ่งถ้าบริษัทขายสินทรัพย์และจ่ายหนี้สินทั้งหมด มูลค่าของหุ้นหรือมูลค่าสุทธิทางบัญชีของธุรกิจจะเท่ากับ 20 ล้านบาท
อัตราส่วนทางการเงินยอดนิยมในการเปรียบเทียบราคาหุ้น กับมูลค่าทางบัญชีที่นักลงทุนคุ้นเคยกันดี คือP/BV Ratio ที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนเท่าของราคาตลาดของหุ้นนั้นๆ ต่อมูลค่าทางบัญชีของบริษัทต่อหุ้น ยังเป็นตัวชี้วัดให้กับนักลงทุนว่า ลงทุนหุ้นนั้นในราคาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่
โดยโอกาสที่บริษัทจะมีค่า P/BV เท่ากับ 1 เท่า เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก เพราะแสดงว่าราคาตลาดของหุ้นได้ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นแล้ว ถือเป็นโอกาสดีของนักลงทุน เพราะจะได้ซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนในระยะยาว
มุมมองนักวิเคราะห์บล. กสิกรไทย ระบุว่า การเพิ่มตัวคูณ P/BV ของ SET Index จะยังจำกัด แม้ SET Index ซื้อขายด้วย PBV ที่ 0.9 เท่า ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในอดีต แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีการปรับเพิ่มตัวคูณในระยะใกล้ สะท้อนว่าผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นน่าจะลดลง เนื่องจากคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยอยู่ที่แค่ 1.4% ในปี 2568 และชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่ 2.5% ในปี 2567
นอกจากนี้ ยังคาดว่าแต่ละบริษัทจะให้ความสำคัญกับการสำรองเงินสดเพื่อตอบสนองต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและแนวโน้มการเติบโตที่น่าท้าทาย อย่างไรก็ดี กลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรเชิงบวกในครึ่งหลังของปี 2568 และ ปี 2569 จะหนุนตัวคูณมูลค่าที่สูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงกลุ่มพลังงาน จากสัดส่วนการจ่ายเงินปันผลที่คาดสูงขึ้น
โอกาสลงทุนในหุ้น SET100 เมื่อดัชนี SET เข้าใกล้ระดับมูลค่าทางบัญชี พบว่าในจำนวนหุ้น 56 ตัวจากหุ้น 100 ตัวใน SET100 ที่วิเคราะห์อยู่นั้นซื้อขายด้วย PBV ที่ต่ำกว่า 1.0 เท่า ในปี 2569 สถานการณ์นี้ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาวในการสะสมหุ้นคุณภาพดี
สำหรับหุ้นเด่นเชิงกลยุทธ์ที่แนะนำในสถานการณ์เช่นนี้ ได้แก่ SPALI, CPN, CENTEL, AMATA และ PTT
มุมมองบทวิเคราะห์บล. กรุงศรี (KSS) มองว่าตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดันจากความเสี่ยงทั้งภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นสงครามในตะวันออกกลาง ภาษีตอบโต้สหรัฐฯ และประเด็นการเมืองไทย-กัมพูชา ส่งผลให้ SET Index ปรับลงกว่า 24% จากต้นปี
แต่ดัชนี SET ปัจจุบัน สะท้อนความเสี่ยงไปมากแล้ว จึงเป็นจังหวะ “สะสมหุ้น Value Play” ที่มีพื้นฐานดี ราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน และจากหุ้นในตลาดทั้งหมด 914 บริษัท พบสถิติที่น่าสนใจว่า
384 บริษัท PER < 12 เท่า
486 บริษัท ปันผล > 3%
626 บริษัท PBV < 1 เท่า
214 บริษัท มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ
เพราะฉะนั้น แนะนำหุ้นเด่นกลุ่ม Big Cap ได้แก่ LH, BLA, AP, TLI, BBL, TOP, PTTEP, PTT, KBANK, KTB ส่วนหุ้นเด่นกลุ่ม Mid-Small Cap ได้แก่ GLOBAL, AMATA, ERW, SC, JUBILE, ILM, ROJNA, BCPG
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ทิศทางหุ้นไทยสัปดาห์หน้า! คาดแกว่งกรอบ 1,100-1,160 จุด ลุ้นเจรจาภาษีสหรัฐ
- คาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าแกว่งกรอบ 1,020-1,100 จุด จับตาประชุมกนง. 25 มิ.ย. นี้
- คาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าแกว่งกรอบ 1,100-1,155 จุด จับตาประชุมเฟด-ภาษีทรัมป์
ติดตามเราได้ที่