ดอลลาร์เคลื่อนไหว Sidways จับตาความคืบหน้าเจรจาการค้า
ดอลลาร์เคลื่อนไหว Sidways จับตาความคืบหน้าเจรจาการค้า หลังสหรัฐประกาศจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจาก 14 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2568
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/7) ที่ระดับ 32.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/7) ที่ระดับ 32.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อวานนี้ (7/7) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศว่าสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจาก 14 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2568 โดยจดหมายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้โพสต์ลงในแพลตฟอร์ม Truth Social ระบุรายชื่อประเทศเป้าหมายและอัตราภาษีที่จะใช้ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย คาซัคสถาน และตูนีเซียที่อัตรา 25%, แอฟริกาใต้และบอสเนียที่อัตรา 30%, อินโดนีเซียที่อัตรา 32%, บังกาเทศและเซอร์เบียที่อัตรา 35%, กัมพูชาและไทยที่อัตรา 36% และลาวและเมียนมาที่อัตรา 40%
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่าอัตราภาษีเหล่านี้อาจมีการปรับขึ้นหรือลงตามพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมประกาศคำสั่งพิเศษเลื่อนกำหนดเส้นตายของภาษีตอบโต้จากวันที่ 9 ก.ค. 2568 เป็นวันที่ 1 ส.ค. 2568
ทั้งนี้นางแคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว เผยว่ายังมีจดหมายอีกหลายฉบับที่เตรียมส่งออกในไม่กี่วันข้างหน้าเพื่อขยายมาตรการภาษีเพิ่มเติมในอนาคต อีกทั้งเมื่อวานนี้ (7/7) นายสก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ยังได้กล่าวสัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว CNBC ว่า สหรัฐจะทำการประกาศข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับภายในเวลา 48 ชั่วโมงข้างหน้า อย่างไรก็ดีนายเบสเซนต์ไม่ได้เปิดเผยว่าสหรัฐจะประกาศข้อตกลงทางการค้ากับประเทศใดบ้าง
อย่างไรก็ตามบรรดานักลงทุนยังคงจับตาความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้า รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและอาจขยายวงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวานนี้ (7/7) ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ส่งจดหมายถึงประเทศไทยเพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากร ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตรา 36% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ในจดหมายยังระบุว่าอัตราภาษีที่ 36% นั้นยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่จำเป็นในการขจัดความไม่สมดุลทางการค้าทั้งหมดกับไทย
ทั้งนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงเปิดทางว่าสหรัฐจะยังไม่เรียกเก็บภาษีหากบริษัทไทยเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐ และแสดงความคาดหวังว่าไทยจะเปิดตลาดการค้าให้กับสหรัฐมากขึ้น เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางการค้าที่สมดุลและเป็นธรรมมากกว่าเดิม
วันนี้ (8/7) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index : ICI) ว่าผลสำรวจในเดือน มิ.ย. 2568 ระหว่างวันที่ 20-30 มิ.ย. 2568 พบว่าดัชนีใน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวกลับเข้าสู่เกณฑ์ซบเซาที่ระดับ 58.45
โดยนักลงทุนมองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและการไหลออกของเงินทุน
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.45-32.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 32.53/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/7) ที่ระดับ 1.1745/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/7) ที่ระดับ 1.1733/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
วันนี้ (8/7) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่าในเดือน พ.ค. ยอดส่งออกของเยอรมนีร่วงลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่อุปสงค์จากสหรัฐหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่บริษัทต่าง ๆ แห่กักตุนสินค้าไปก่อนหน้านี้เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยในเดือน พ.ค.ยอดส่งออกลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวเพียง 0.2% ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 3.8% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 18,400 ล้านยูโร หรือเทียบเท่า 21,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.ที่เกินดุลการค้าอยู่ 15,700 ล้านยูโร
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ การส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ลดลง 2.2% ส่วนสหรัฐซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดดิ่งลงถึง 7.7% ขณะที่การส่งออกไปยังจีนลดลง 2.9% ทั้งนี้โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า EU ยังคงตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ภายในวันพุธที่ 9 ก.ค. 2568 หลังจากที่นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีการพูดคุยที่ดีต่อกัน
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1732-1.1765 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1739/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/7) ที่ระดับ 145.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/7) ที่ระดับ 145.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
วันนี้ (8/7) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่าในเดือน พ.ค. ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.44 ล้านล้านเยน หรือเทียบเท่า 23,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขาดดุลการค้าที่หดตัวลง โดยดุลการค้าขาดดุลอยู่ที่ 522,300 ล้านเยน อันเป็นผลมาจากยอดส่งออกที่ลดลง 1.4% แตะระดับ 8.03 ล้านล้านเยน ส่วนยอดนำเข้าลดลง 7.5% สู่ระดับ 8.56 ล้านล้านเยน
นายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวระหว่างการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจด้านภาษีศุลกากรในวันนี้ (8/7) ว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้าญี่ปุ่น 25% ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างแท้จริง ทั้งนี้รัฐบาลจะยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของชาติในการเจรจารอบต่อไปเพื่อหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐ พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งพึ่งพาการส่งออก
สำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า นายอิชิบะกล่าวว่าแม้สหรัฐตัดสินใจเรียกเก็บภาษีในอัตราดังกล่าว แต่ก็ยังต่ำกว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยขู่ไว้ และยังเป็นการเปิดช่องสำหรับการเจรจาในอนาคต โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์เคยขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 30%-35% เพื่อกดดันญี่ปุ่น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.88-146.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 146.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มิ.ย.ของจีน (9/7), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน มิ.ย.ของจีน (9/7), แบบจำลอง GDPNow ของเฟดสาขาแอตแลนตา (10/7), รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (10/7), ดัชนี CPI เดือน มิ.ย.ของเยอรมนี (10/7), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (10/7), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือน พ.ค.ของอังกฤษ (11/7), และดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ของอังกฤษ (11/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.2/-8.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.15/-5.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ดอลลาร์เคลื่อนไหว Sidways จับตาความคืบหน้าเจรจาการค้า
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net