‘สมศักดิ์’ ส่งหนังสือถึงผอ.องค์การอนามัยโลก ฟ้องปมกัมพูชา บึ้มรพ.-พื้นที่พลเรือน
เมื่อวันที่ 26 ก.ค.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ สส.ชัยภูมิ เขต 2 พรรคเพื่อไทย น.ส. พิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สส.พิษณุโลก เขต 4 พรรคเพื่อไทย น.ส.วิลดา อินฉัตร สส.ศรีสะเกษ เขต 7 พรรคเพื่อไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามสถานการณ์ ความพร้อมทางการแพทย์และสาธารณสุข เยี่ยมผู้ป่วยที่อพยพ พร้อมมอบสิ่งของที่จำเป็น ให้กำลังผู้ป่วยและทีมแพทย์พยาบาลในการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสู้รบ
นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ จึงมอบหมายให้พวกเราลงพื้นที่ดูแลปประชาชนแทน และนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาราชการแทนนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลจะขอเบิกงบประมาณ การประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารนี้ เพื่อมาดูและเยียวยา ตนขอให้กำลังบุคลากรทางการแพทย์ และขอบคุณในการทำหน้าที่ดูและประชาชนอย่างเข้มแข็งในช่วงสถานการณ์นี้
“ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันสู้เพื่อดินแดนของเรา หมอก็รักษาคนป่วย ทหารก็อยู่ชายแดน รัฐบาลก็เคยเสริม ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ และกระทรวงสาธารณสุข ก็มีทีมเยียวยาจิตใจและอีกหลายทีมประมาณ 602 ทีม คอยเข้าไปดูแล นำกำลังสนับสนุน ช่วยกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ประท้วงกรณีที่มีการทิ้งระเบิดใส่รพ. พื้นที่พลเรือน ซึ่งขัดกับหลักมนุษยธรรมเป็นอย่างมาก ก็ได้ประท้วงให้สังคม ช่วยกันดูว่ายังมีคนที่มีจิตใจอำมหิตในโลกนี้อยู่ เราประณามไปแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่านายสมศักดิ์ ได้ลงนามในหนังสือเพื่อส่งถึงดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กรณีกัมพูชา ละเมิดอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ค.ศ.1949 ข้อ 18 และ 20 โดยโจมตีที่ส่งผลให้พลเรือนไทยเสียชีวิต 13 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 32 ราย และสร้างความเสียหายแก่สถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบภายในดินแดนของไทย การกระทำดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกและความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวง จึงเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1. รับรองและบันทึกเหตุการณ์นี้รวมถึงผลกระทบในวงกว้างต่อการปกป้องบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนที่เปราะบาง 2. ส่งเสริมสารทั่วโลกที่เรียกร้องให้มีการเคารพและคุ้มครองโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ตลอดเวลา รวมถึงในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งหรือความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น และ 3. อำนวยความสะดวกในการประสานความร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อรับประกันความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
โดยไทยขอยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ต่อหลักนิติธรรมระหว่างประเทศและหลักการพื้นฐานว่าด้วยการคุ้มครองทางมนุษยธรรม เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทผู้นำขององค์การอนามัยโลกในการธำรงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของระบบสาธารณสุขในทุกสถานการณ์ และเชื่อมั่นว่าข้อกังวลของเราจะได้รับการพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล