"นิพิฏฐ์" เปิดมุมมองลึกซึ้ง ‘การบวช’ คือการฝึกใจ-ละกิเลส พร้อมข้อคิดจากหลวงพ่อพุทธทาส
วันที่ 10 ก.ค.68 นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า…
การบวช
-คือ การออกไปแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศลที่ดีกว่าการครองเรือน การบวชเป็นการออกไปอยู่อย่างต่ำต้อย เป็นการฝึกการอยู่อย่างต่ำ อยู่แบบคนขอทาน เป็นการบังคับตน บังคับอินทรีย์ เป็นการถือศีลถือสิกขาบท เสียสละของรักของชอบ คนบวชต้องบังคับอินทรีย์ บังคับจมูก ลิ้น กาย ใจ
-การบวช มี 2 ประเภท คือ
1. การบวชชั่วคราว ถือเป็นการฝึกอยู่แบบบรรพชิต เป็นการออกจากบ้านเรือนไปอยู่อาศรม ถึงเวลาก็ออกมาไปเป็นผู้ครองเรือน ก็ได้ชื่อว่าเป็น“บัณฑิต” หรือ“ทิด” ติดตัวออกมาด้วย การบวชชั่วคราวก็ต้องปฏิบัติอีกแบบหนึ่งจัดไว้สำหรับคนหนุ่มสาว เป็นการปฏิบัติเพื่อการศึกษาบังคับจิตใจให้อยู่ในอำนาจของตน หากบวชแล้วเห็นว่าดีก็อาจบวชตลอดไป
2. การบวชตลอดไป ก็ถือเป็นการทำจริง เป็นการบวชของคนที่ผ่านโลกมาแล้ว จนเห็นว่าไม่มีอะไรดีกว่านี้ จึงบวชเพื่อเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต ซึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า“วิมุตติ” -หากบวชชั่วคราว ก็ขอให้ทำจริงตามความหมายของการบวช เป็นการทดลองอยู่อย่างต่ำต้อย อยู่แบบขอทาน การบวชชั่วคราวก็มีประเพณีบวชสามเดือน หรืออาจบวชไม่กี่วันก็ได้ แต่ขอให้ปฏิบัติจริง “ในอินเดียสมัยพุทธกาลไม่มีการบวชขั่วคราว แต่เป็นการบวชของผู้ที่ผ่านโลกมาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าควรออกไปหาสิ่งที่ดีกว่าการครองเรือน”
-กล่าวโดยสรุป แม้เป็นการบวชชั่วคราว ก็ต้องฝึกใจ เป็นอยู่อย่างต่ำ แบบขอทาน ข่มใจ ช่วงที่บวชก็ต้องสละของรักของหวง เมื่อรู้จักข่มใจ รู้จักบังคับอินทรีย์ สึกออกมาแล้ว ก็จะได้สิ่งที่ปฏิบัติในขณะบวชมาใช้ในการครองเรือน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์/
ที่มา:หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ