สภาฯถกลับ7 ญัตติส่อสงครามไทย-กัมพูชา “กัณวีร์” แฉเล่ห์ “เขมร” ด้าน “โรม”จ้องฟ้องศาลโลก
วันที่ 24 ก.ค.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์การปะทะกันบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นญัตติในลักษณะเดียวกัน จำนวน 7 ญัตติ แบ่งเป็น ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ญัตติของ พรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคกล้าธรรม และพรรคประชาธิปัตย์ และฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ญัตติของ พรรคประชาชน พรรคภูมิใจไทย และพรรคเป็นธรรม โดยได้มีการเปิดให้ตัวแทนเจ้าของญัตติทั้ง7ญัตติ อภิปรายเสนอญัตติ และชี้แจงเหตุผลเบื้องต้นของการเสนอญัตติ จากนั้นจะเป็นการประชุมลับ โดยในช่วงการอภิปรายสนับสนุนของสมาชิก ทั้งนี้ตัวแทนผู้เสนอญัตติได้อภิปรายถึงเหตุผลของการเสนอญัตติในภาพรวม เพื่อส่งข้อเสนอแนะให้รัฐบาลรับทราบ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตั้งศูนย์ข่าว ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงมีแผนอพยพประชาชน ดูแลชีวิตและทรัพย์สิน ให้มีความชัดเจน เพื่อลดความสับสนในพื้นที่
สำหรับการอภิปรายในช่วงการเสนอญัตติ ที่ยังเป็นการประชุมแบบเปิด มีสมาชิกอภิปรายเนื้อหาน่าสนใจ อาทิ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ชี้แจงตอนหนึ่งว่า ตนมีเหตุผลเดียว ความอ่อนแอในการดำเนินงานด้านการต่างประเทศ และไม่สามารถวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้การต่าบประเทศนำความมั่นคง ขอแสดงความเสียใจกับประชาชนทั้ง2ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้สูญเสีย ขอให้กำลังใจประชาชน ข้าราชการ หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ไม่น่าเกิดขึ้นเลย แต่มันเป็นไปตามสิ่งที่กัมพูชากำหนดไว้ ล่าสุดนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โพสต์ข้อความว่า ได้ทำหนังสือถึงรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC แล้ว ในการที่จะให้ UNSC เข้ามาแทรกแซง เข้ามาหยุดการปฏิบัติการทางทหารของประเทศไทยที่เบ้าไปทำลายประเทศเขา นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ
“หากงานการต่างประเทศของไทยเราเข้มแข็ง เราจะมองเห็นว่าสุดท้ายที่เขาต้องการคือเข้าไปถึง UNSC เพราะ UNSC มีข้อผูกมัดกับ180ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิก และยอมรับหาก UNSC มีการพิจารณาออกมา ตอนนี้การดำเนินการประเทศไทยจะทำอย่างไร หากมีการพิจารณาออกมา การใช้แนวทางการทูตของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาจะทำได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นความท้าทายของเรา ที่เราจำเป็นต้องแสดงความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลกเห็นว่าเรานำการทูตมาแก้ไขปัญหาได้จริงๆ ประเทศต่างๆจำเป็นต้องมีการวางแผนใช้การทูต สงครามไม่ใช่สิ่งที่ปราถนา สงครามเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะต้องเกิดขึ้นในโลกใบนี้ สันติภาพที่ยั่งยืนต่างหากที่จำเป็น แต่เราจะทำอย่างไรให้สันติภาพนำหน้าภาวะสงคราม เราช้าจริงๆในด้านงานการต่างประเทศ เขาไปถึงตรงนั้นแล้ว เราอยู่ตรงไหน” นายกัณวีร์ กล่าว
นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า หลังจากเกิดเหตุที่วานนี้(23ก.ค.) ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดบาดเจ็บสาหัส โชคดีที่เราได้มีการดำเนินการตามงานการต่างประเทศแล้ว 4 จาก 6 มาตรการ ตามสนธิสัญญาเวียนนา ได้แก่ การประท้วง การเรียกทูตเข้าไปคุย การเรียกทูตไทยกลับมา และส่งทูตกัมพูชากลับไป เหลืออีกเพียง2มาตรการ ที่เราจำเป็นต้องทำ เราต้องเร่งกระบวนการพิจารณาให้ดีว่าจะตัดสัมพันธ์ทางการทูต จนไปถึงการปิดสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ได้ หากดำเนินการครบ 6 มาตรการตามสนธิสัญญาเวียนนา จะเป็นหลักประกันว่าเราได้ดำเนินการตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศให้ได้ ปัจจุบันกัมพูชาได้ผิดข้อตกลงว่าด้วยการเคารพทางกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านมนุษยธรรมในภาวะสงคราม ขณะนี้คือภาวะสงครามที่เกิดขึ้น และกัมพูชาไม่เลือกเป้าหมายว่าเป็นพื้นที่เป้าหมายทางการทหาร แต่ไปเลือกพื้นที่พลเรือน ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศ ต้องทำงานให้มากกว่ากัมพูชา ต้องดึงประชาคมโลกมาเข้าข้างประเทศไทยให้ได้ จะมาบอกว่าเราใช้ F-16 เขาใช้แค่เครื่องยิงจรวด BM-21 ไม่ได้ เราต้องยึดมั่นว่ามีเป้าหมายทางด้านการทหารเพียงเท่านั้น
“การปฏิบัติการครั้งนี้ของกัมพูชา ทำให้กฎหมายระหว่างประเทศต่างๆโดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศทางด้านมนุษยธรรมมันแตกสลาย มันบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ใช่แค่ไทย-กัมพูชาเท่านั้น แต่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประชาคมโลก ผมจึงอยากเห็นแผนงานการต่างประเทศ ของรัฐบาลชุดนี้“ นายกัณวีร์ กล่าว
ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายชี้แจงเหตุผลในการเสนอญัตติว่า แผนอพยพประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ปัญหาที่ต้องทำเฉพาะหน้าคือให้ประชาชนของไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนั้นต้องพัฒนาประสิทธิภาพของการแจ้งเตือนไปยังประชาชนในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงให้มีความพร้อม และมีประเด็นที่ไทยทำได้ คือ การเชิญทูตทหารลงพื้นที่เพื่อให้เห็นต่อการก้าวร้าวของกัมพูชา
“รักษาการนายกฯต้องยกหูถึงประธานอาเซียน รวมถึงประธานสภาฯ ต้องช่วยสื่อสารไปยังประธานอาเซียน คือ มาเลเซีย เพื่อให้มิตรประเทศเข้าใจสถานการณ์ไม่ตกหลุมพรางของกัมพูชาที่สร้างเรื่องว่าถูกรังแก นอกจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศต้องเร่งยื่นเรื่องไปยังยูเอ็นเอสซี เพราะเป้าหมายของกัมพูชาคือ กลุ่มเปราะบาง โรงพยาบาล หากกัมพูชายื่นก่อนไทยอาจตกเป็นจำเลยของนานาชาติ ควรต้องทำให้นานาประเทศเห็นเหมือนที่ไทยเห็น” นายรังสิมันต์ อภิปราย
นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า ในการประชุมกมธ.ความมั่นคง มีข้อมูลว่า กัมพูชาตั้งฐานไว้ที่ปราสาทต่างๆ ที่ถูกขึ้นเป็นมรดกโลก ซึ่งหากกองทัพไทยดำเนินการใดที่มีผลกระทบ กัมพูชาจะใช้โอกาสพาไทยขึ้นศาลโลก แม้ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม กัมพูชาปรารถนาอย่างเดียวคือ ลากไทยขึ้นสู่ศาลโลก
ทั้งนี้เมื่อเจ้าของญัตติทั้ง7ญัตติ ได้เสนอญัตติ พร้อมอภิปรายเหตุผลในเบื้องต้นครบถ้วนแล้ว จากนั้นเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับญัตติดังกล่าว เกรงว่าการอภิปรายจะพาดพิงกระทบความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงให้มีการประชุมลับตามที่วิปทั้ง2ฝ่ายได้ตกลงร่วมกันมาก่อนหน้านี้ โดยประธานที่ประชุม ได้ขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องประชุม และไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนมีการบันทึกภาพและเสียงในการประชุมลับครั้งนี้อีกด้วย