จ่ายตรง-พ่วงปุ๋ย ไร่ละ 1,000 คึก ผู้ค้าปุ๋ย-เคมีเกษตรแห่ชิงเค้ก 1.8 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ 4 โครงการช่วยเหลือเกษตรกร วงเงินงบประมาณรวม 50,038.67 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและส่งเสริมการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 10 ไร่ แบ่งเป็นจ่ายตรง 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 10 ไร่ และสนับสนุนเงินค่าปัจจัยการผลิตผ่านแอป BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินงบประมาณ 18,967.68 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบในอีก 2 ฤดูกาลผลิตหน้า ในการสนับสนุนซื้อปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรต่อเนื่อง ยกเว้นการจ่ายเงินตรงที่จะอุดหนุนปีนี้เป็นปีสุดท้าย
แหล่งข่าวจาก นบข. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโครงการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและส่งเสริมการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ โดยช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 3 ฤดูการผลิต ได้แก่ ฤดูการผลิต 2568/69 ช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 1,000-2,500 บาทต่อไร่ และปีการผลิต 2569/70- 2570/71 ในอัตรา 500-2,000 บาทต่อไร่ เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งอาจจะสนใจเข้าร่วมปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว โดยจะได้รับเงินในอัตรา 1,500 บาทต่อไร่ ตั้งเป้าหมายปีนี้ไว้ที่ 1 ล้านไร่
“ที่ประชุม นบข. ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการดำเนินโครงการในกิจกรรมปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว ประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอ นบข.ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาตามระเบียบต่อไป”
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า สมาชิกสมาคมฯพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องปัจจัยการผลิต อย่างไรก็ดีอยากให้ถอดบทเรียนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ที่ไม่ให้เกษตรกรสามารถเลือกแบรนด์เองได้ แต่จะจ่ายปุ๋ยไปที่สหกรณ์การเกษตร ซึ่งไม่ตรงกับความเคยชินของเกษตรกรในการเลือกซื้อปุ๋ย ที่จะมีความนิยมหรือชื่นชอบในแบรนด์หรือยี่ห้อที่มั่นใจว่าใส่แล้วได้ผลผลิตดีแน่นอน และถ้าซื้อปุ๋ยในพื้นที่ แต่ละบริษัทหรือผู้ค้าก็มักให้ราคาพิเศษ พร้อมของอภินันทนาการอีกมากมาย
“การนำปุ๋ยมาใส่แบรนด์กลาง เกษตรกรมักขาดความไม่เชื่อมั่น และหากใส่ไปแล้วได้ผลผลิตที่ไม่ดี ใครจะรับผิดชอบ ขณะเดียวกันหากให้ซื้อผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. ก็เป็นห่วงว่าจะมีไม่กี่แบรนด์ที่เข้าร่วม ก็ไม่อยากให้ประวัติซํ้ารอยในอดีต อยากให้ปิดช่องโหว่ทุจริต เพื่อให้เงินที่ใช้ต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร”
ด้านนางสาววรัญญา บุญวิวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย กล่าวว่า ความจริงเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลควรจะจ่ายตรงให้กับเกษตรกรทั้งหมดไปเลย เพื่อจะได้ไปซื้อสินค้าที่เกษตรกรต้องการ อีกด้านหนึ่งหากมีการแบ่งให้ซื้อปัจจัยการผลิต ก็ไม่ควรไปกำหนดสูตรปุ๋ย เกษตรกรอยากซื้อแบรนด์ไหน สูตรอะไรให้ซื้อไปเลย ไม่ต้องผ่านสหกรณ์การเกษตร และไม่ต้องซับซ้อน ทั้งนี้มีความเป็นห่วงว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จะเป็นเจ้าของที่ดินที่ได้สิทธิ์ไป โดยไม่ตกถึงมือเกษตรกรที่มาเช่าที่
ปัจจุบันราคาปุ๋ยเคมีขนาด 50 กิโลกรัมต่อกระสอบ ราคาเฉลี่ยไม่ตํ่ากว่า 700 บาท โดยพฤติกรรมของเกษตรกรจะนิยมใช้แบรนด์ที่คุ้นเคย ยอมจ่ายแพงกว่าแบรนด์ใหม่เพราะมั่นใจว่าใส่แล้วจะได้ผลผลิตที่ดี อย่างไรก็ดีหากรัฐบาลมีโครงการในรูปแบบนี้สามารถร่วมมือกับเอกชนในการดำเนินโครงการ ในลักษณะนำงบประมาณมาจ่ายเต็มให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าให้ แล้วมีส่วนลดเป็นราคาพิเศษขายให้กับเกษตรกร แต่ต้องมาคุยกันล่วงหน้า ซึ่งต้นทุนปุ๋ยปีนี้ทำราคาถูกไม่ได้แล้ว เพราะปรับราคาขึ้นมาแล้ว
นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า โครงการของรัฐบาลเป็นประโยชน์กับเกษตรกร โดยเฉพาะในฤดูกาลนี้ผลผลิตข้าวจะออกมามาก ราคาผลผลิตเกษตรกรมีทิศทางตกตํ่า หากได้รับเงินอุดหนุนช่วยค่าปุ๋ย และเคมีเกษตร จะช่วยลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการผลิตในฤดูกาลนี้ หรือถ้าไม่ทันก็ได้ใช้ในฤดูการผลิตรอบต่อไป ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจเงินฝืดนี้เห็นด้วยที่รัฐจะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าและลดต้นทุนการทำนาไปในคราวเดียวกัน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,114 วันที่ 17 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2568