ผ่าอาณาจักร “สุกี้ตี๋น้อย” จากร้านสุกี้ห้องแถวสู่ “บุฟเฟต์หมื่นล้าน”
ตลาดสุกี้-ชาบูของที่มีมูลค่ารวมกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท กำลังเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดจาก “สงครามราคา” และภาวะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา แต่หนึ่งในแบรนด์ Rising Star ที่ถูกจับตามากที่สุดในช่วงนี้หนีไม่พ้น “สุกี้ตี๋น้อย” แบรนด์บุฟเฟต์สุกี้ยอดนิยม ภายใต้การบริหารของ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด กลับมองเห็นโอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเตรียมผงาดสู่ตลาด “พรีเมียมแมส” พร้อมตั้งเป้ารายได้ทะลุหมื่นล้านบาทในปี 2569 ภายใต้การนำทัพของ “เฟิร์น - นัทธมน พิศาลกิจวนิช” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสุกี้ตี๋น้อย
“สุกี้ตี๋น้อย” ถือกำเนิดในปี 2561 หลังจากที่ “นัทธมน” ตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานออฟฟิต และเลือกที่จะเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง ผนวกกับภูมิหลังของครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจสวนอาหารเรือนปั้นหยา (ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว) ทำให้มีโนฮาวและเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ และเลือกที่จะเดินหน้าในธุรกิจ “บุฟเฟต์สุกี้” เพราะบริหารจัดการและควบคุมต้นทุน วัตถุดิบได้ง่าย ด้วยจุดขายที่ราคา 199 บาท/หัว และเปิดบริการในช่วงเวลา 12.00-05.00 น. ทำให้ “สุกี้ตี๋น้อย” โดดเด่นและถูกใจคนไทยที่ใช้ชีวิตกันแบบ 24 ชม. พร้อมก้าวขึ้นสู่ทำเนียบเรสเทอรองต์สในลำดับต้นๆของเมืองไทย
“นัทธมน” เล่าให้ฟังว่า สุกี้ตี๋น้อยเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาแล้ว 8 ปี จากร้านเล็กๆ เพียง 15 โต๊ะในห้องแถวสาขาบ้านบางเขน สู่เครือข่ายสาขาขนาดใหญ่ทั่วประเทศ โดยเน้นย้ำถึงปรัชญาการทำธุรกิจที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และการลงมือปฏิบัติเรียนรู้งานตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ เพื่อทำความเข้าใจทุกมิติของร้านอาหารอย่างแท้จริง
แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่ธุรกิจของ “สุกี้ตี๋น้อย” ก็ยังเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องก้าวข้ามผ่านทุกสรรพสิ่ง ความสำเร็จนี้ถูกตอกย้ำยิ่งขึ้น เมื่อบมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น “สุกี้ตี๋น้อย” 30% ด้วยเม็ดเงินราว 1,200 ล้านบาท ขณะที่สปีดการขยายสาขาก็ยังไม่ลดลง การประกาศปักหมุดทั่วประเทศ ทำให้สุกี้ตี๋น้อย แพร่อาณาจักรได้เพิ่มขึ้น 55 แห่งในสิ้นปี 2566 และ 78 แห่งในปี 2567 ตามลำดับ
“การดำเนินธุรกิจ 8 ปี เราวิ่งมาตลอด แต่ปีหน้าเราจะเหาะ เราจะเปิดสาขาใหม่รวม 32 แห่ง ทั้งสุกี้ตี๋น้อยและตี๋น้อยบาร์บีคิว ซึ่งจะเป็นปีที่ขยายสาขามากที่สุดเท่าที่เคยทำมา”
ครึ่งปีแรกของปี 2568 เราเปิดสาขาเพิ่ม 11 แห่ง ส่วนครึ่งปีหลังมีแผนเปิดเพิ่มอีก 10 แห่ง แบ่งเป็นสุกี้ตี๋น้อย 5 สาขา และตี๋น้อยบาร์บีคิว 5 สาขา “นัทธมน” บอกอีกว่า ปีหน้า (2569) ตั้งเป้าหมายจะเปิดสาขาใหม่อีก 32 แห่งทั้งสุกี้ตี๋น้อยและตี๋น้อยบาร์บีคิว ซึ่งจะเป็นปีที่ขยายสาขามากที่สุดเท่าที่เคยทำมา และคาดการณ์ว่าจะสามารถผลักดันรายได้รวมของบริษัทให้สูงถึงหมื่นล้านบาทในปี 2569
เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำในตลาด “พรีเมียมแมส” สุกี้ตี๋น้อยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการในหลายมิติ อย่างวัตถุดิบ บริษัทเน้นการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสูง โดยไม่ให้ราคาเป็นข้อจำกัดในการเลือกเมนู เช่น การนำเข้าเนื้อวัวออสเตรเลียและชีสมอสซาเรลล่าในปริมาณมาก ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดตลอดกระบวนการ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาน้ำซุปและน้ำจิ้ม มีการพัฒนาน้ำซุปและน้ำจิ้มอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีน้ำซุป 4 แบบ และน้ำจิ้มสูตรเฉพาะ เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของลูกค้า
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สุกี้ตี๋น้อย มุ่งสร้างเพื่อตอกย้ำแบรนด์ให้แข็งแรง คือการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าด้วยระบบสมาชิก 4 ระดับ ได้แก่ ตี๋น้อยเมมเบอร์ (สีแดง), ซิลเวอร์ (สีเงิน), โกลด์ (สีทอง) และแพลทินัม ซึ่งแต่ละระดับจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจนและใช้งานง่ายขึ้น เช่น สิทธิ์ทานฟรี จองโต๊ะในเดือนเกิด หรือจองโต๊ะได้ตลอดทั้งปี
ที่โดดเด่นคือการเตรียมเปิดตัว “Tn Lounge” (ตี๋น้อย เลานจ์) สำหรับสมาชิก เพื่อแก้ปัญหาการรอคิว โดยเฉพาะระดับโกลด์และแพลทินัม สามารถเข้าใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง มีโซฟา เครื่องดื่ม และจอแสดงคิว เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายสูงสุดระหว่างรอคิว สาขาแรกๆ ที่จะมี Tn Lounge ได้แก่ ศรีนครินทร์, ลำลูกกา, ชลบุรี, และบ้านบางเขน
อีกสเตปที่ทำให้ “ตี๋น้อย” ไม่ได้มีเพียงแค่แบรนด์ “สุกี้” เท่านั้น แต่ยังได้ขยายไลน์ธุรกิจไปสู่ “ตี๋น้อยบาร์บีคิว” และโปรเจกต์ CSR อย่าง “ข้าวแกงตี๋น้อยวันศุกร์” นอกจากนี้ ยังมีแผนรีแบรนด์ “ตี๋น้อยเอ็กซ์เพรส” ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ลำดับที่ 3 ในพอร์ตโฟลิโอของบริษัท
“นัทธมน” มองว่า ตลาดพรีเมียมแมส ยังคงเป็นช่องว่างที่ไร้ผู้เล่นรายใหญ่ที่ชัดเจน ด้วยทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ สุกี้ตี๋น้อยจึงพร้อมที่จะยกระดับแบรนด์เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และขยายฐานลูกค้าในวงกว้างขึ้น โดยยังคงรักษาจุดแข็งด้านความคุ้มค่าและคุณภาพที่เหนือราคาไว้
การมีแผนงานที่ชัดเจน พร้อมเดินหน้ารุกอย่างต่อเนื่องทำให้ผลประกอบการในปี 2567 “สุกี้ตี๋น้อย” มีรายได้รวม 7,075 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,168 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
“การบริหารจัดการต้นทุนและการตั้งราคาโปรโมชั่นต่างๆ ไม่ได้เป็นการ “เฉือนเนื้อตัวเอง” แต่เป็นการคำนวณอย่างรอบคอบจากข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้ธุรกิจยังคงมีกำไรและสามารถเดินหน้าได้ในระยะยาว ลูกค้าของสุกี้ตี๋น้อยยังคงพึงพอใจในราคา 219 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คุ้มค่าอยู่แล้ว ทำให้แม้มีการจัดโปรโมชั่นลดราคา ก็ยังดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น และเพิ่มความถี่ในการรับประทาน จากเดิม 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็น 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์”
เป้าหมายที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,000 ล้านบาทสำหรับ “สุกี้ตี๋น้อย” จึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม และด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง “สุกี้ตี๋น้อย ที่ก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้เล่นสำคัญในตลาดร้านอาหารที่ใหญ่ขึ้นและครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น เป้าหมายการจะมีรายได้ 10,000 ล้านบาทในปี 2569 จึงไม่ใช่เพียง “ฝันใหญ่” แต่เป็นการตอกย้ำ “ผู้นำในสมรภูมิบุฟเฟต์สุกี้-ชาบูของประเทศไทย”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,114 วันที่ 17 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2568