’พิชัย‘ ถกสหรัฐทางการ ลุ้นปิดดีลเก็บภาษีต่ำกว่า อัตรา 36%
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ จะนำข้อเสนอของไทยไปพูดคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ในคืนวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยทีมไทยแลนด์จะเจรจาอย่างเป็นทางการกับ USTR ในช่วงค่ำของวันที่ 17 ก.ค.นี้ หลังจากวานนี้ได้หารือรายละเอียดกับทีมไทยแลนด์เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการหารือกับ USTR เป็นรูปแบบการพูดคุยผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มีการหารือกับระดับเจ้าหน้าที่มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ถือว่ารอบนี้จะเป็นการหารืออย่างเป็นทางการ เพื่อชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอใหม่ที่ประเทศไทยปรับปรุงไป เช่น การลดภาษีนำเข้าให้กับสหรัฐหลายหมื่นรายการ การพิจารณาซื้อพลังงาน สินค้าเกษตร และการไปลงทุนในสหรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ หวังว่าการหารือดังกล่าวจะปิดดีลได้ ให้ไทยโดนเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐต่ำกว่าอัตรา 36% ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ส.ค.นี้
ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเจรจาภาษีสหรัฐ อยู่บนหลักการ คือ ไทยต้องเปิดตลาดกว้างขึ้นสำหรับสินค้าที่สหรัฐต้องการขาย และไทยอยากซื้อ แต่ต้องดูการเปิดตลาดที่ไม่กระทบ FTA ที่ไทยตกลงกับคู่ค้าอื่น โดยการเสนออัตราภาษีให้สหรัฐ 0% ในสินค้าที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องนำเข้า หรือไทยผลิตไม่เพียงพอ โดยต้องป้องกันภาคการผลิต และภาคเกษตร
“ข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งไปเปิดตลาดให้สหรัฐ 63-64% และเพิ่มเป็น 69% ไทยเปิดตลาดสินค้าบางรายการที่ไม่เคยเปิดตามที่ขอมา เช่น ลำไย ปลานิล ส่วนตลาดยานยนต์กำลังพิจารณา ซึ่งเดิมไทยผลิตเยอะจึงไม่เปิดตลาดให้ แต่ถ้าเปิดให้คงเข้ามาไม่ได้ง่าย เช่น รถพวงมาลัยซ้าย เพราะสหรัฐมีตลาดอื่นทั่วโลกคงไม่เข้ามาขายที่ไทยมาก”
นอกจากนี้ จะส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจไทยในสหรัฐมากขึ้น เพราะสหรัฐต้องการส่งออกมากขึ้น และทำฐานผลิตในสหรัฐให้แข็งแรงขึ้น เช่น การลงทุนเกษตรแปรรูป ขณะที่การนำเข้าสินค้าสหรัฐได้พิจารณาพลังงานมากขึ้น โดยปัจจุบันสหรัฐมีปริมาณพลังงานสำรองสูงทำให้มีราคาต่ำ เช่น ก๊าซธรรมชาติราคา 2-3 ดอลลาร์ ต่อล้าน BTU ถูกกว่าราคาตลาดที่ 10-11 ดอลลาร์
ทั้งนี้ ยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับการป้องกันการสวมสิทธิสินค้าไทย โดยสหรัฐต้องการเพิ่มการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบไทย (Local content) เป็นโจทย์ที่ต้องดูว่าสหรัฐกำหนดสัดส่วนเท่าไร ซึ่งอาจเพิ่มจาก 40% ในปัจจุบันเป็น 60-80% และมีเงื่อนไข Local content มากขึ้นเพื่อป้องกันการสวมแหล่งกำเนิดสินค้า
ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังได้เตรียมการเยียวยาผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐ โดยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 200,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อช่วยเหลือทั้งการลงทุน ช่วยการจ้างงาน การบริหารสินค้าคงคลัง รวมถึงมีมาตรการอื่นของสถาบันการเงินที่เตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้จากระดับปกติที่ดอกเบี้ย 2% ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมจากที่วางไว้