บทบาท ‘อนุญาโตตุลาการ’ ในยุคของการเปลี่ยนแปลงภาษีการค้า หลังไทยโดนภาษี 36%
นายสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ ผู้อำนวยการสถาบัน อนุญาโตตุลาการ หรือ Thailand Arbitration Center (THAC) โพสต์ข้อความในหัวข้อ บทบาทของอนุญาโตตุลาการในยุคของการเปลี่ยนแปลงภาษีการค้า: กรณีภาษี 36%
เมื่อโลกการค้าระหว่างประเทศเผชิญแรงกระเพื่อมจาก “ภาษีการค้า 36%” ที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้กับประเทศไทย กลายเป็นประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกและธุรกิจที่เชื่อมโยงกันในห่วงโซ่อุปทาน
แม้การจัดเก็บภาษีจะเป็นสิทธิของแต่ละประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันอาจนำไปสู่ข้อพิพาททางธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสัญญาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำไว้ระยะยาวและประเมินความเสี่ยงด้านภาษีในอดีตไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงในปัจจุบัน “ภาษีเปลี่ยน ข้อพิพาทก็เปลี่ยน”
ในบริบทนี้ “อนุญาโตตุลาการ” จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน มีความยืดหยุ่น และตอบโจทย์ธุรกิจระหว่างประเทศมากกว่ากระบวนการศาลทั่วไป
เหตุผลที่อนุญาโตตุลาการตอบโจทย์ข้อพิพาทภาษีระหว่างประเทศ
1. ความเป็นกลางและความลับ
ผู้ประกอบการและนักลงทุนมักไม่ต้องการเปิดเผยรายละเอียดทางการเงินหรือข้อมูลทางการค้าในที่สาธารณะ ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเป็นความลับ ต่างกับกระบวนการฟ้องร้องคดีในศาล โดยการอนุญาโตตุลาการจะมีลักษณะเป็นศาลเฉพาะตัวของคู่พิพาท การรักษาความลับในกระบวนการนี้ช่วยเสริมความเชื่อมั่นและลดผลกระทบต่อชื่อเสียงของคู่พิพาท ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในข้อพิพาทเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ อีกทั้งคู่พิพาทสามารถแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการที่มีความรู้เฉพาะทาง เช่น ด้านภาษีหรือการเงินระหว่างประเทศ
2. ความยืดหยุ่นของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
กระบวนการอนุญาโตตุลาการเปิดโอกาสให้คู่พิพาทสามารถกำหนดขั้นตอนพิจารณาได้อย่างยืดหยุ่น เช่น การเลือกสถานที่พิจารณา ภาษา อนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด และรูปแบบการส่งพยานหลักฐาน ซึ่งสามารถช่วยให้กระบวนการมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจแต่ละประเภท
แม้อนุญาโตตุลาการจะมีหน้าที่หลักในการพิจารณาข้อพิพาทตามกฎหมายหรือกติกาที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่ก็สามารถคำนึงถึงบริบทของความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และผลกระทบทางพาณิชย์ได้ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่ใช้บังคับ ทั้งนี้ การตัดสินต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายที่คู่พิพาทตกลง หรือที่คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าเหมาะสม และไม่สามารถใช้หลักแห่งความสุจริตและเป็นธรรมได้ เว้นแต่คู่พิพาทจะให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง
3. การตีความสัญญาอย่างมืออาชีพ
หากข้อพิพาทเกิดจากผลกระทบของภาษีต่อข้อตกลงทางธุรกิจ อนุญาโตตุลาการสามารถวินิจฉัยข้อพิพาทโดยอ้างอิงถึงเจตนารมณ์ของคู่สัญญา และพิจารณาข้อเท็จจริงทางธุรกิจควบคู่กับข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริง
4. การบังคับคำชี้ขาดในต่างประเทศ
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสามารถบังคับใช้ได้ในประเทศคู่สัญญาที่เป็นภาคี “อนุสัญญานิวยอร์ก” (New York Convention) ซึ่งมีจำนวนมากถึง 172 ประเทศทั่วโลก ช่วยให้การจัดการข้อพิพาทมีประสิทธิภาพ ไม่จำกัดเพียงในเขตอำนาจศาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง
5. ความรวดเร็วและต้นทุนด้านเวลา
โดยทั่วไป อนุญาโตตุลาการใช้เวลาในการพิจารณาน้อยกว่าการดำเนินคดีในศาล โดยเฉลี่ยภายใน 6–12 เดือน ขณะที่การดำเนินคดีในศาลอาจยืดเยื้อหลายปี
เมื่อภาษี 36% กระทบสัญญาส่งออก
สมมุติว่า บริษัท A ในประเทศไทยทำสัญญาระยะยาวกับบริษัท B ในสหรัฐอเมริกา โดยตกลงราคาสินค้าไว้โดยไม่ได้คำนึงถึงภาษีนำเข้า 36% ที่เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น บริษัท B ต้องการเจรจาใหม่หรือลดจำนวนการสั่งซื้อ แต่บริษัท A ปฏิเสธ ส่งผลให้เกิดข้อพิพาท หากไม่สามารถเจรจาได้ อนุญาโตตุลาการอาจเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพ และรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างกันไว้ได้
เตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ต้น: ระบุเงื่อนไขอนุญาโตตุลาการในสัญญา
ในยุคที่นโยบายการค้าและภาษีกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ การทำสัญญาธุรกิจควรคำนึงถึง “กลไกการระงับข้อพิพาททางเลือก” ที่เป็นกลางและยืดหยุ่น ตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ “สัญญาอนุญาโตตุลาการ” หรือ “ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ” เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ในอนาคต
THAC พร้อมให้คำปรึกษา
การส่งเสริมให้มีการระบุเงื่อนไขการใช้อนุญาโตตุลาการในสัญญาทางธุรกิจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในโลกธุรกิจในปัจจุบัน โดยท่านสามารถนัดหมายเข้ามาปรึกษาที่สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC: Thailand Arbitration Center กระทรวงยุติธรรมและสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ www.thac.or.th
#Thepoint #Newsthepoint
#ภาษีทรัมป์ #สงครามภาษี #สถาบันอนุญาโตตุลาการ